วิจัยพบต้นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอทุก 1 กก.ช่วยดูดก๊าซเรือนกระจกได้ 1 กก.
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม คณะวิศวะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานนวัต-กรรมแห่งชาติ (NIA) ศึกษาพบการปลูกต้นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ มีส่วนช่วยแก้โลกร้อน โดยต้นกระดาษฯ น้ำหนัก 1 กิโลกรัม ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากบรรยากาศสุทธิได้ 1 กิโลกรัม หากส่งเสริมปลูกตามพื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น คันนา จะช่วยแก้ปัญหาได้มากยิ่งขึ้น
รศ.ดร.ประเสริฐ ภวสันต์ ผู้ประสานงานโครงการศูนย์วิจัยการจัดการสารเคมีและของเสียอันตราย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางทีมวิจัย ได้ร่วมกับบริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยบางส่วนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ในการศึกษาเกี่ยวกับ การดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ ที่ปลูกตามคันนา และได้เริ่มศึกษาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา life cycle assessment หรือการประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์กระดาษของดั๊บเบิ้ล เอ การศึกษาครั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของต้นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ ตั้งแต่แหล่งกำเนิด หรือศึกษาวัฎจักรชีวิต เริ่มตั้งแต่เป็นต้นกล้าจนถึงการตัดฟันเป็นไม้ท่อนส่งถึงโรงงาน โดยพิจารณาทั้งปริมาณการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากการปลูกต้นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ และกระบวนการระหว่างทางที่จะทำให้เกิดการปลดปล่อยคาร์บอน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ปุ๋ย การใช้สารเคมีการกำจัดแมลงระหว่างปลูก และการใช้เชื้อเพลิงเผาไหม้ระหว่างการขนส่ง ทั้งจากการขนส่งไม้ท่อนมาจำหน่ายโดยรถของเกษตรกรซึ่งใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง และการขนส่งกล้าและไม้ท่อนโดยรถบรรทุกในเครือข่ายของดั๊บเบิ้ล เอ ที่มีการปรับเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิง CNG หรือก๊าซธรรมชาติอัด ซึ่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ผลจากการศึกษาในส่วนของการใช้สารเคมีระหว่างการปลูกต้นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ พบว่า มีปริมาณการใช้สารเคมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนท่อนไม้ที่ผลิตได้หลังจากเสร็จสิ้นระยะเวลาเก็บเกี่ยว สอดคล้องกับการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ปลูกต้นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ ที่ให้ข้อมูลว่า การปลูกต้นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ปุ๋ยในการปลูก ถึงแม้จะมีเกษตรกรบางรายใช้ปุ๋ยบ้างในการเตรียมดินขณะปลูก ดังนั้นจากการศึกษาจึงพบว่า ภาระต่อสิ่งแวดล้อมของต้นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ ในด้านนี้ ถือว่ามีน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย
ส่วนการประเมินผลกระทบจากการขนส่ง ได้มีการสุ่มตัวอย่างการขนส่งทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่การขนส่งกล้าต้นกระดาษฯ จากโรงเพาะชำที่จังหวัดปราจีนบุรีไปยังสำนักงานสาขาในจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งสำนักงานเหล่านี้จะทำหน้าที่กระจายต้นกล้าและรับซื้อไม้ท่อนจากเกษตรกร การขนส่งต้นกล้าจากสำนักงานสาขาไปยังเกษตรกร การขนส่งไม้ท่อนของเกษตรกรกลับมายังสำนักงานสาขา และท้ายที่สุดคือ การขนส่งไม้ท่อนถึงโรงงานของดั๊บเบิ้ล เอ โดยมีระยะทางระหว่างสำนักงานสาขาไปยังพื้นที่ของเกษตรกรในรัศมีประมาณ 10-20 กิโลเมตร
ผลจากการประเมินคำนวนการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ พบว่า ต้นกระดาษอายุ 3 ปีจะมีน้ำหนักรวม 65.3 กิโลกรัม เมื่อตัดฟันเป็นไม้ท่อนจะมีน้ำหนักประมาณ 60 กิโลกรัม ซึ่งจะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศได้เท่ากับ 62.9 กิโลกรัมต่อท่อนไม้หนัก 60 กิโลกรัม และดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิอยู่ที่ 60.6 กิโลกรัม เมื่อหักลบคาร์บอนที่เกิดจากการขนส่งและกระบวนการอื่นแล้ว นอกจากนี้ยังช่วยสร้างออกซิเจนให้กับบรรยากาศอีก 45.7 กิโลกรัมต่อท่อนไม้หนัก 60 กิโลกรัมอีกด้วย กล่าวโดยสรุปคือ ท่อนไม้ต้นกระดาษหนัก 1 กิโลกรัม ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เท่ากับ 1 กิโลกรัมเช่นกัน
นอกจากนี้ในระหว่างการศึกษาจากการสัมภาษณ์ชาวนา 78 รายที่ปลูกต้นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ บนคันนา ยังได้ข้อมูลเพิ่มเติมที่น่าสนใจคือ ร้อยละ 90 ของเกษตรกรสมาชิกมีความรู้เพียงพอในการปลูกต้นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ ร้อยละ 70 ของเกษตรกรสมาชิกไม่พบว่ามีผลกระทบอะไรต่อผลผลิตข้าวจากการปลูกต้นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ และ ร้อยละ 97 จากเกษตรกรสมาชิกกล่าวว่าครอบครัวของเขามีทัศนคติที่ดีต่อการปลูกต้นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ และเกษตรกรเกือบทั้งหมดมีความพอใจกับรายได้ที่เกิดจากการปลูกต้นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ บนคันนา เนื่องจากช่วยทำให้พื้นที่ว่างที่ไม่มีประโยชน์กลายเป็นรายได้เสริม ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า แนวคิดของการส่งเสริมการปลูกต้นกระดาษบนคันนานี้เป็นที่รู้จักและยอมรับจากเกษตรกร และหากได้รับการส่งเสริมต่อเนื่องก็ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ที่เคยว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการลดภาวะก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบัน