ดั๊บเบิ้ล เอและกทม. ชวนบรรณารักษ์ สร้างห้องสมุดในฝัน ส่งเสริมเด็กไทยรักการอ่าน
การอ่านคือการเปิดโลกกว้าง เปิดมุมมองจากความคิดของผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ผ่านตัวหนังสือ และสำนวนที่หลากหลายชวนติดตาม โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาชี้ว่าร้อยละ 80-90 ของความรู้และข้อมูลที่มนุษย์ต้องการ ค้นหาได้จากการอ่าน นอกจากนี้ การอ่านยังเป็นช่องทางในการเสริมสร้างจินตนาการและความคิด ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์อีกด้วย
ดั๊บเบิ้ล เอ เล็งเห็นความสำคัญของการอ่านและได้มีการส่งเสริมสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ได้ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร จัดงานสัมมนาบรรณารักษ์ประจำปี 2556 ภายใต้หัวข้อ “ดั๊บเบิ้ล เอ บุ๊ค ทาวเวอร์ ชวนบรรณารักษ์ สร้างห้องสมุดในฝัน” เพื่อส่งเสริมให้อาจารย์และบรรณารักษ์ได้นำความรู้ไปพัฒนาห้องสมุดภายในโรงเรียนและในชุมชนให้เป็นห้องสมุดในฝันของเด็กๆ โดยมี ศาสตราจารย์คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต นายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย และอาจารย์เจริญ มุศิริ ครูเกียรติยศ สาขาบรรณารักษศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรสร้างสรรค์สังคมรักการอ่าน ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้ได้รับความสนใจจากครูบรรณารักษ์จากโรงเรียนต่างๆ และเจ้าหน้าที่บรรณารักษ์ห้องสมุดชุมชน กรุงเทพมหานคร มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก
การสัมมนาเริ่มด้วยการบรรยายของอาจารย์เจริญ มุศิริ ที่ชักชวนเหล่าบรรณารักษ์จัดกิจกรรมในห้องสมุดเพื่อเป็นการจูงใจเด็กๆ เข้ามาใช้ห้องสมุดมากยิ่งขึ้น โดยการนำบทเรียนมาบูรณาการเข้ากับกิจกรรมที่สนุกสนานทั้งร้อง เล่น เต้น รำ สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้เด็กๆสนใจในกิจกรรมและซึมซับเนื้อหาสาระไปโดยไม่รู้ตัวและเกิดการจดจำได้ง่าย
“การสร้างห้องสมุดในฝันจำเป็นต้องมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือการมีส่วนร่วมของคนในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐและเอกชน โดยเริ่มจากครอบครัวที่จะต้องปลูกฝังให้ลูกรักการอ่านตั้งแต่เด็ก ซึ่งควรเริ่มจากการอ่านจากภาพ เพื่อสร้างจินตนาการในการคิด แล้วค่อยพัฒนาการอ่านเป็นหนังสือประเภทอื่นๆต่อไป ในส่วนของโรงเรียนก็ควรจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านอย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการความรู้กับกิจกรรมสันทนาการเพื่อจูงใจเด็กนักเรียน เช่นการจัดประกวดทักษะต่างๆ หรือกิจกรรมบันทึกการอ่าน โดยมีการเสริมเรื่องของรางวัลเพื่อจูงใจ และส่วนสุดท้ายชุมชนต้องให้ความสำคัญกับการอ่านด้วยเช่นกัน มีกิจกรรมให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง” อาจารย์เจริญ กล่าว
ขณะที่คุณสุนิสา ปานเจริญ เจ้าพนักงานห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ กรุงเทพมหานคร (เขตลาดกระบัง) เล่าว่า “การได้เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ได้ความรู้และแนวทางในการจัดบรรยากาศห้องสมุดให้ดึงดูดประชาชนเข้ามาใช้บริการ โดยปกติห้องสมุดประชาชน เขตลาดกระบัง ก็มีการจัดกิจกรรมเพื่อดึงดูดประชาชนอยู่แล้ว แต่การได้เข้าร่วมการอบรมทำให้มีแนวคิดทางด้านการจัดกิจกรรมใหม่ๆ เปิดมุมมองใหม่ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาศักยภาพของบรรณารักษ์อีกด้วย”
ต่อด้วยช่วงบ่ายที่เป็นการบรรยายของผู้ทรงคุณวุฒิที่อยู่ในวงการศึกษาไทยมานานอย่าง ศ.คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต นายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ที่นำประสบการณ์ในการทำงานมาเล่าสู่กันฟัง ถึงการผลักดันกิจกรรมห้องสมุดให้เป็นที่แพร่หลาย โดยท่านได้ให้แนวคิดของการจัดห้องสมุดให้เป็นห้องสมุดในฝันว่า “การจัดห้องสมุดให้อยู่ในพื้นที่เข้าถึงได้ง่าย สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับใช้ให้สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่ายขึ้น ซึ่งห้องสมุดระดับโลกมักจะสร้างรูปลักษณ์การดีไซน์ที่ทันสมัย อย่างเช่น Salt Lake City Public Library ในสหรัฐอเมริกา ที่มีสถาปัตยกรรมที่งดงามใหญ่โต และยังมีการสร้างบรรยากาศด้วยการเปิดเพลงคลอให้ผู้ใช้บริการเพลิดเพลิน รวมถึงการจัดหาหนังสือให้ครอบคลุมความต้องการของผู้อ่าน และที่สำคัญการสร้างห้องสมุดในประเทศไทย ภาครัฐควรส่งเสริมงบประมาณที่จะสามารถจัดหาหนังสือดีมีคุณภาพ สื่ออิเล็กโทรนิกส์ และการเพิ่มจำนวนห้องสมุดให้มีเพียงพอใช้งาน หรือเพียงแบ่งงบประมาณร้อยละ 5 ของงบประมาณแผ่นดินก็สามารถสร้างห้องสมุดที่ดีมีคุณภาพไว้ให้ประชาชนใช้บริการได้แล้ว”
ส่วนผู้ร่วมเข้าฟังสัมมนาอย่าง คุณเอื้อมพร พรหมนรกิจ ครูบรรณารักษ์ โรงเรียนประดิษฐารามวิทยาคม กล่าวว่า จากการสัมมนาในวันนี้ก็ได้ความคิดใหม่ๆ ที่จะนำไปเป็นเทคนิคปรับใช้กระตุ้นความคิดของเด็กนักเรียนให้เกิดความสนใจ ก็จะช่วยนำไปสู่การอ่านให้มีมากขึ้น เช่น ผ่านการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ที่สนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ ซึ่งจะทำให้เด็กนักเรียนเข้ามาใช้ห้องสมุดมากขึ้น
การสัมมนา “ดั๊บเบิ้ล เอ บุ๊ค ทาวเวอร์ ชวนบรรณารักษ์ สร้างห้องสมุดในฝัน” ในครั้งนี้ จะเป็นอีกแรงขับเคลื่อนหนึ่ง ที่ดั๊บเบิ้ล เอ และกรุงเทพมหานคร ต้องการส่งเสริมให้สังคมไทยเป็นสังคมอุดมปัญญา ปลูกฝังให้เกิดนิสัยรักการอ่านอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเยาวชนไทย ซึ่งเป็นอนาคตอันสำคัญของประเทศชาติ เราคงไม่อยากหยุดสถิติการอ่านของคนไทยไว้ที่ปีละ 5 เล่มเท่านั้น แต่เราหวังไว้ว่านิสัยรักการอ่านจะอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของคนไทยทุกเพศและทุกวัย