ดั๊บเบิ้ล เอ ชวนคนทำงานใส่ใจสุขภาพกับเวิร์คช็อป บำบัดอาการ ออฟฟิศซินโดรม
ใครว่าทำงานออฟฟิศปลอดภัยไม่มีโรค ด้วยสภาวะตึงเครียดของสังคมในปัจจุบัน ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตใจ ทำให้โรคออฟฟิศซินโดรม เป็นอีกหนึ่งโรคยอดฮิตที่คุกคามคนวัยทำงาน ซึ่งโรคนี้จะเข้ามาคุกคามอย่างเงียบๆ กว่าคนทำงานจะรู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ต่อเมื่อกลายเป็นออฟฟิศซินโดรมเรื้อรัง จนอาจถึงขั้นเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้
ด้วยเหตุนี้ ดั๊บเบิ้ล เอ จึงจัดเวิร์คช็อป บำบัดอาการ ออฟฟิศซินโดรม ขึ้นที่เมืองหนังสือ ดั๊บเบิ้ล เอ บุ๊ค ทาวเวอร์ เพื่อให้ความรู้คนทำงานถึงอันตรายของโรคนี้ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้คนทำงานมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และให้กำลังใจกันและกันให้ห่างไกลจากโรค โดยได้รับเกียรติจากคุณเล็ก ฉัตริษา ศรีสานติวงศ์ อดีตพิธีกรรายการบ้านเลขที่ 5 และผู้เขียนหนังสือออฟฟิศซินโดรม กลเม็ดเด็ด พิชิตโรควัยทำงาน มาเป็นวิทยากร
สาวออฟฟิศทั้งหลาย ใครนั่งท่านี้โปรดระวัง กระดูกสันหลังจะคด
คุณเล็ก วิทยากรหน้าสวยของเรา กล่าวว่า "คนเรามักจะละเลยสัญญานอันตรายที่ร่างกายส่งออกมา เช่น อาการปวดเมื่อยตามอวัยวะต่างๆ และใช้ชีวิตรูปแบบเดิมต่อไป โดยไม่ได้สนใจสุขภาพ ซึ่งจริงๆ แล้วโรคนี้อันตรายมาก สามารถทำให้เราเสียประสาทการรับรู้ความรู้สึกได้เลยทีเดียว"
หนึ่งในคนทำงานที่เริ่มมีอาการออฟฟิศซินโดรม
แต่ก่อนที่จะเข้าใจความเป็นไปของโรค ทุกคนจะต้องเข้าใจถึงลักษณะสรีระร่างกายมนุษย์ก่อน โดยคุณเล็กอธิบายง่ายๆ ว่า "ร่างกายมนุษย์ทุกคนนั้น ไม่ว่าจะผู้หญิงหรือผู้ชายก็มีโครงสร้างเหมือนกัน นั่นคือ มีโครงกระดูก หรือจะเปรียบเทียบเป็นเหล็กเส้นในอาคารก็ได้ เป็นเสาหลักรับน้ำหนักทั้งหมดของร่างกาย และมีกล้ามเนื้อ ซึ่งเปรียบได้กับ ปูน หรือคอนกรีต ห่อหุ้มอีกทีหนึ่ง และสองอย่างนี้ก็ช่วยห่อหุ้มระบบประสาทของร่างกายเรา ทั้งนี้ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย ทุกคนต่างมีกล้ามเนื้อ, โครงกระดูก และเส้นประสาท ในจำนวนที่เท่ากันและอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน"
คุณเล็กนำโครงกระดูกขนาดเท่าของจริงมาสาธิต
หลังจากนั้นคุณเล็ก ได้อธิบายโครงสร้างกระดูกด้วยแบบจำลองตามขนาดจริงของมนุษย์ ว่าข้อต่อกระดูกคนเราแบ่งได้เป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ คือ กระดูกส่วนคอ, ส่วนอก, ส่วนเอว หรือหลังช่วงล่าง, และส่วนสะโพก ซึ่งโรคออฟฟิศซินโดรมนี้ จะเกิดกับกระดูก 2 บริเวณคือ คอและเอว โดยถ้าเราเข้าใจโครงสร้างกระดูกจะทำให้เราสามารถคุยกับแพทย์รู้เรื่องมากยิ่งขึ้น และหาทางรักษาได้ตรงจุด เพราะคุณเล็กเองก็เคยประสบปัญหาคุยกับแพทย์ไม่รู้เรื่องมาก่อน
"เวลาไปพบแพทย์แล้วดูฟิล์มเอ็กซเรย์ จะมีตัวย่อของข้อต่อกระดูก 4 ส่วนนี้ ซึ่งตอนที่ไปพบหมอ ทุกคนจะประสบปัญหาเดียวกันคืองง และนึกภาพไม่ออกว่าเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายเรา ดังนั้นการเข้าใจส่วนต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เรารู้ว่า อาการชาตามนิ้วมือนิ้วเท้านั้น เกิดจากกระดูกส่วนคอมีปัญหา ทำให้เราเอ็กซเรย์เฉพาะบริเวณนี้ เป็นต้น" คุณเล็ก ฉัตริษา กล่าว
ท่าออกกำลังกายข้อมือ กันนิ้วล็อค
ผู้ร่วมงานต่างร่วมกันกายบริหาร
โรคออฟฟิศซินโดรมจะเกิดกับคนทำงานมาก เนื่องจากคนทำงานจะนั่งอยู่ในท่าเดิมนานๆ โดยไม่ได้ลุกไปไหน ทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนผิดรูป และรับน้ำหนัก ไม่ถูกจุด เมื่อนั่งผิดท่านานๆ จะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังแตก และน้ำในหมอนรองจะออกมาทับเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการปวด หรือชาตามร่างกาย
หนึ่งในท่ากายบริหาร ยืดเหยียด เอียง บิด
การรักษาโรคนี้จึงขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการเดิน นั่ง ยืน นอน ทุกอย่างล้วนส่งผลกระทบต่อร่างกายทั้งนั้น เพราะโครงกระดูกเป็นส่วนที่รับน้ำหนักร่างกายทั้งหมด ผู้ที่เคยมีอาการ หมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับเส้นประสาท และเคยเข้ารับการผ่าตัดมาแล้วครั้งหนึ่ง ก็สามารถกลับมาเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมได้อีกครั้ง ถ้าไม่ได้พักฟื้นเพียงพอและเปลี่ยนการใช้ชีวิตใหม่
เล็ก ฉัตริษา ได้แนะนำคนทำงานให้ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต ดังนี้
- ตั้งเวลาปลุกให้เร็วขึ้น 5 นาที เมื่อตื่นนอนแล้ว ควรยืดตัวบิดขี้เกียจก่อนลุกไปอาบน้ำ เพื่อให้เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อคลายตัว หลังจากน้ำหนักกดทับมาทั้งคืน
- หลังจากนั้น ก่อนอาบน้ำ ให้ออกกำลังกายเบาๆ สะบัดมือสะบัดเท้า เพื่อป้องกันกล้ามเนื้อไม่ให้หดตัวเกร็งเมื่อเจอน้ำ เพราะถ้ากล้ามเนื้อหดเกร็งบ่อยๆเข้า จะสะสมความเครียด และเป็นตะคริวได้ง่าย การออกกำลังกายท่านี้ สามารถทำได้ง่ายๆ คือ ยืนกางขา ยื่นมือมาข้างหน้า พร้อมสะบัดๆ มือ ซึ่งท่านี้จะสนุกขึ้น ถ้าสะบัดมือไปพร้อมกันกับการบิดสะโพก
- เมื่อร่างกายพร้อมต่อการทำงานวันใหม่แล้ว จิตใจก็ต้องพร้อมด้วย โดยคุณเล็กแนะนำให้ทุกคนคิดว่า ‘คอยดูสิ วันนี้ฉันจะทำให้ได้’ เมื่อไปถึงที่ทำงาน เพื่อสร้างความมั่นใจและ ทำงานวันใหม่ได้สำเร็จ เป็นไปตามแผนที่วางไว้
- เมื่อทำงาน ก็ห้ามนั่งทำงานเกิน 1 ชม. ถ้าครบเวลา ให้ลุกขึ้นยืดเหยียดเอียงบิด ซึ่งทำได้ง่ายๆ เช่น เอามือซ้ายจับด้านหลังพนักเก้าอี้ มือขวาเอื้อมไปจับราววางแขนด้านซ้าย ช้าๆ และทำสลับกัน เป็นต้น หรือท่ายืนตัวตรง
ยื่นแขนขึ้นไปพนมมือด้านบนศีรษะ ให้แขนตึง และดึงแขนมาหลังใบหู เพื่อให้เหยียดตึงมากขึ้น ซึ่งท่านี้จะช่วยจัดกระดูกสันหลังให้ตรง หลังจากนั่งคดทำงานมาเป็นเวลานาน
- นอกจากนี้ ควรเอาหมอนรองหลัง และก้นกบไว้ เพื่อรองรับน้ำหนัก การนั่งท่าเดิมนานๆ จะทำให้เกิดพังผืด และส่งผลให้เคลื่อนไหวผิดปกติ
- อย่านั่งทำงานคลิกแต่เมาส์ โดยไม่ได้บริหารนิ้วและข้อมือ เพราะถ้าเกิดอาการนิ้วล็อคขึ้นมาแล้วนั้น ไม่สามารถบำบัดได้ นอกจากเข้ารับการผ่าตัด
- อย่าเครียด และควรสังเกตอาการปวดหัวของตนเอง ว่าปวดในลักษณะไหน เพื่อรักษาได้ทันท่วงที
- ควรจัดบรรยากาศออฟฟิศให้เหมาะสม เพราะการมองเห็นมีผลต่อความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นความสว่าง, อากาศ, และควรมีต้นไม้จริงประดับ ให้ความสดชื่น มีชีวิตชีวา พร้อมที่จะลุยกับงานต่อไป
การทำงานทุกวันนอกจากจะเป็นการสะสมความเครียดในตนเองแล้ว ยังมีความเครียดจากสิ่งเร้าที่ก่อตัวขึ้นจากปัจจัยต่างๆในการดำเนินชีวิต ทำให้คนวัยทำงานเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมกันง่ายขึ้น เราจึงควรปรับเปลี่ยนตนเองใหม่ รู้จักยืดเส้นยืดสายกายบริหาร เพื่อความเป็นสุขของตัวเราเอง แล้วการทำงานจะมีความสุขมากขึ้น ถ้าร่างกายสบาย จิตใจก็มีความสุข
สำหรับผู้ที่สนใจห่วงใยสุขภาพ ดั๊บเบิ้ล เอ บุ๊ค ทาวเวอร์ เมืองหนังสือของคนไทยบนถนนสาทร 12 ก็มีหนังสือแนวสุขภาพมากมายให้เลือกซื้อเลือกอ่านกันได้ หรือคลิกดูรายละเอียดได้ที่ www.doubleabooktower.com