ดั๊บเบิ้ล เอ รวมพลังอาสา พลังชุมชนสร้างสะพานไม้ต้นกระดาษช่วยผู้ประสบอุทกภัยใช้ชีวิต "อยู่กับน้ำ ยิ้มกับน้ำ" ได้
หลังจากคนไทยต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วมมาเป็นเวลากว่า 2 เดือนเต็ม เราได้พบภาพผู้คนมากมายกลายเป็นผู้อพยพ ต้องจำใจทิ้งบ้านของตนเองมาอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงเพราะสู้กับภัยน้ำท่วมที่หนักหนาไม่ไหว แต่ก็มีผู้ประสบภัยอีกมากมายเช่นกันที่พอจะสามารถอาศัยอยู่ในบ้านของตนเองได้ แต่ไม่ว่าทางเลือกใด พวกเขาเหล่านั้นก็ยังคงต้องปรับตัว ปรับใจให้รับกับสภาพต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของพวกเขา เพราะไม่มีทางเลือกใดที่เป็นเรื่องง่าย ดังนั้น ทุกคนจึงต้องปรับตัว ปรับใจ และหาทางแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อที่จะเดินหน้าใช้ชีวิตต่อไป แม้จะมีภาพของความขัดแย้งกันบ้าง แต่คำว่า คนไทยไม่ทิ้งกัน ก็ยังคงก้องอยู่ในใจของทุกคน ความช่วยเหลือมากมายจากทั่วสารทิศหลั่งไหลมายังผู้ประสบภัย
ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกันที่น้ำใจและหยาดเหงื่อจากเหล่าอาสาได้เชื่อมไปสู่ผู้ประสบภัยที่เขตดินแดง ผ่านสะพานไม้ที่พวกเขาร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อให้ผู้ประสบภัยสามารถอยู่กับน้ำและพึ่งตนเองได้ โดยมีดั๊บเบิ้ล เอ ร่วมกับ กองทุนเสริมศักยภาพชุมชนรับมือภัยพิบัติ , ศูนย์ประสานจัดการความรู้เพื่อรับมือภัยพิบัติ (ศจก.) ,สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ,นิสิตนักศึกษาอาสาสมัครและชาวบ้านชุมชนเขตดอนเมือง จัดทำ "สะพานไม้ต้นกระดาษ จากพลังชุมชนและพลังอาสา" ร่วมคืนรอยยิ้มสู่ชุมชน
นาย ชาญวิทย์ จารุสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดั๊บเบิ้ล เอ กล่าวว่า "กิจกรรมนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการจัดเสวนา "อยู่กับน้ำ" Don't let Flood STOP your Life ที่มีกูรูสาขาต่างๆ มาบอกเล่าประสบการณ์และแนะนำวิธีที่จะทำให้เราอยู่กับน้ำได้ และจากการลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย พบว่า ผู้ประสบภัยไม่ได้ต้องการแค่ถุงยังชีพ แต่พวกเขาต้องการใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน อยู่ในชุมชนของพวกเขาได้อย่างสะดวกมากขึ้น ในภาวะที่ระดับน้ำยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งผู้ประสบภัยและชุมชนเหล่านั้นก็สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ สามารถเดินทางไปทำงานหรือซื้อหาอาหาร โดยไม่เป็นภาระให้กับเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัคร จึงเป็นที่มาของโครงการจัดทำสะพานไม้จากต้นกระดาษ ที่นอกจากจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประสบภัยในการเดินทางแล้ว ยังเป็นการป้องกันเชื้อโรค และอันตรายจากสัตว์ที่มีพิษที่มักจะแฝงตัวอยู่ในน้ำได้อีกด้วย และหลังจากน้ำลดลงแล้วดั๊บเบิ้ล เอ ก็จะมอบต้นกระดาษเหล่านั้นให้กับชุมชน เพื่อไปซ่อมแซมบ้านเรือนหรือชุมชนต่อไป"
สำหรับกิจกรรมการสร้างสะพานไม้จากต้นกระดาษ เริ่มจาก ดั๊บเบิ้ล เอ และหน่วยงานต่างๆ ได้รวบรวมกลุ่มอาสาสมัครที่เป็นทั้ง นักเรียน นิสิต และนักศึกษา จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ประชาชนทั่วไป และพนักงานของดั๊บเบิ้ล เอ ที่มีจิตอาสา มารวมตัวกันอยู่ที่บริเวณลานเกียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อรอรับต้นกระดาษ จากดั๊บเบิ้ล เอ จำนวนกว่า 1.3 หมื่นท่อน เพื่อนำมาตัดแต่ง ขึ้นรูปชิ้นส่วน เพื่อนำไปประกอบเป็นสะพานไม้ให้กับผู้ประสบภัย ใช้เวลาในการประกอบเป็นโครงกึ่งสำเร็จรูปมาประมาณ 3-4 วัน ด้วยกำลังอาสาที่ทยอยเข้ามาช่วยทุกวันรวมกันมากกว่า 500 คน ขนไม้ท่อนมาตัดให้ได้ขนาด ใช้สว่านเจาะรูตามแบบ แล้วนำมาประกอบเป็นขาตั้งเกือบ 2,000 ชิ้น และต่อเป็นแพสำหรับประกอบเป็นพื้นสะพานอีกเกือบ 1,000 ชิ้น เพื่อลำเลียงไปประกอบร่วมกับชุมชนในวันเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา
จากนั้นส่วนประกอบทั้งหมดก็ถูกขนส่งไปที่เขตดอนเมือง ที่เลือกเขตดอนเมืองเป็นสถานที่ให้เกิดสะพานไม้นี้ คุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขและผู้ดำเนินโครงการชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ เล่าว่า เราไม่สามารถไปสร้างสะพานให้ทุกที่ แต่เราต้องการจุดประกายความคิด และทำเป็นตัวอย่างของการร่วมแรงร่วมใจกัน ที่นี่จึงเป็นตัวอย่างนำร่อง โดยการกำหนดจุดวางสะพานนี้จะคำนึงถึงการก่อให้เกิดประโยชน์เป็นสาธารณะ คนส่วนรวมสามารถใช้ประโยชน์
อาสาร่วมกับชุมชนต้องลุยน้ำลงไปประกอบเป็นสะพานต้นกระดาษจนสำเร็จ ได้สะพานยาวประมาณ 2 กิโลเมตร เพื่อให้กับผู้ประสบภัยในเขตชุมชนดอนเมือง สามารถเดินทางเข้าออกตั้งแต่ซอยวิภาวดี 33 (เปรมประชา) – ซอยวิภาวดี 47 (ชุมชนวังทอง) ได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งงานนี้จะสำเร็จไม่ได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากบรรดาอาสาสมัครมากมาย ที่ร่วมใจกันเดินทางมาช่วยลงมือ และลงแรงในครั้งนี้
เริ่มจาก "น้องเมย์" น.ส.วริษา ถิรวณิชย์ นักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในอาสาสมัคร ที่นำวิชาที่ร่ำเรียนมาใช้กับงานในครั้งนี้ เล่าว่า "เดิมเมย์ จะแบ่งงานด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากส่วนกลางของมหาวิทยาลัยมาทำ ทำให้เมย์ได้ทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการสร้างสะพาน สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประสบภัยได้ เพราะเป็นความช่วยเหลือที่สามารถช่วยคนในพื้นที่ได้จริง โดยเมย์จะมีหน้าที่ในการแบ่งงาน และแบ่งหน้าที่ตามความถนัดของอาสาสมัครแต่ละคน และจะมีหัวหน้าทีมในการตรวจเช็คโครงสร้างว่าถูกต้องและได้มาตรฐานหรือไม่ ก่อนที่จะนำไปประกอบเป็นสะพานให้กับผู้ประสบภัย ซึ่งอาจจะเป็นงานที่เหนื่อย แต่คุ้มที่ได้ช่วยเหลือคนที่ประสบภัย"
ด้าน "น้องวิน" นายนครินทร์ เหลืองวัฒนากิจ หนุ่มน้อยจากเตรียมอุดมศึกษา บอกว่า "บ้านผมกับเพื่อนๆอีก 5 คน ที่มาด้วยกันในวันนี้ ไม่ได้เจอกับภาวะน้ำท่วม แต่อยากจะมาช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัย เพราะรู้ว่าทุกคนกำลังอยู่ในภาวะที่ลำบาก ผมและเพื่อนๆ เลยอยากจะช่วย และคิดว่าหากมีกิจกรรมแบบนี้ก็จะไปร่วมอีกครับ"
"น้องปาย" ณัฐพล สุวรรณฤทธิ์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดินทางไกลมาจากเชียงใหม่ พร้อมเพื่อนอีก 17 คน เพื่อมาช่วยสร้างสะพานให้กับผู้ประสบภัยโดยเฉพาะ เล่าว่า "การช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 ของผมและเพื่อนๆ โดยก่อนหน้านี้ได้ลงพื้นที่ใน จ.นครสวรรค์ เพื่อแจกอาหาร และร่วมทำสุขาลอยน้ำ ซึ่งการมาทำสะพานให้กับผู้ประสบภัยในครั้งนี้ เป็นอีกประสบการณ์หนึ่งที่ผมได้ช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน ให้เขาสามารถอยู่ร่วมกับน้ำได้อย่างมีความสุข ซึ่งผมมองว่า แม้น้ำจะท่วมมาก แต่น้ำใจของคนไทยก็หลั่งไหลมามากเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ"
สำหรับความช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้น นอกจากดั๊บเบิ้ล เอ จะสร้างสะพานไม้จากต้นกระดาษแล้ว ยังฝากบอกสำหรับผู้ที่กำลังมองหางานอยู่ในขณะนี้ โดยดั๊บเบิ้ล เอ และเพื่อนผู้ร่วมประกอบอุตสาหกรรมในสวนอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค ยังเปิดรับสมัครงานไม่ต่ำกว่า 20,000 อัตรา เพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ประสบอุทกภัย ซึ่งนอกจากการจ้างงานเข้าเป็นพนักงานตามปกติแล้ว ยังมีการจ้างงานแบบชั่วคราว เพื่อให้แรงงานที่ต้องการทำงานเพียงช่วงสั้นๆ สามารถหารายได้เลี้ยงครอบครัวในช่วงน้ำท่วมได้ ก่อนกลับไปทำงานที่บริษัทเดิม แรงงานที่สนใจสามารถโทรศัพท์ติดต่อสอบถามได้ที่ 1759 กด 0