ดั๊บเบิ้ล เอ ส่งเสริมรักการอ่าน โครงการ " สื่อทำมือ หนังสือหน้าสอง "
โครงการ " สื่อทำมือ หนังสือหน้าสอง "
เพราะเป็นองค์กรที่ส่งเสริมด้านสังคมรักการอ่านมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ดั๊บเบิ้ล เอ ไม่หยุดยั้งที่จะเดินหน้า
ส่งเสริมโครงการดีๆ ที่จะกระตุ้นให้เด็กไทยหันมาใส่ใจและรักการอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น โดยล่าสุด ดั๊บเบิ้ล เอ
ได้ร่วมกับโรงเรียนบางบ่อพิทยาคม และโรงเรียนคลองบางกะสี 2 โรงเรียนที่มีความคิดสร้างสรรค์ของ
จ.สมุทรปราการ จัดทำโครงการ "สื่อทำมือ หนังสือหน้าสอง" ด้วยการนำกระดาษถ่ายเอกสารที่ใช้แล้วด้านเดียว มาทำหนังสือหน้าสองให้เป็นหนังสือที่น่าอ่าน น่าติดตาม และที่สำคัญน้องๆ สามารถทำได้ด้วยตัวเอง
สำหรับโครงการ " สื่อทำมือ หนังสือหน้าสอง " มีที่มาที่ไปอย่างไร วันนี้ อาจารย์นางภาวนา มีกลิ่นหอม อาจารย์โรงเรียนคลองบางกะสี จ.สมุทรปราการ ได้เล่าให้ฟังว่า โรงเรียนได้จัดทำโครงการ " สื่อทำมือ หนังสือหน้าสอง " มาตั้งแต่ปี 2546 โดยทางโรงเรียนมองว่าในแต่ละวันเราใช้กระดาษถ่ายเอกสารเป็นจำนวนมาก และส่วน-ใหญ่เป็นการใช้กระดาษเพียงหน้าเดียว ส่วนอีกหน้าที่เหลือไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองแล้ว ยังเป็นการเพิ่มปริมาณขยะอีกด้วย ดังนั้นทางโรงเรียนจึงเกิดแนวคิดในการนำกระดาษอีก 1 หน้าที่เหลืออยู่มาทำให้เกิดประโยชน์ จึงนำกระดาษที่เหลือมาทำหนังสือในรูปแบบของหนังสือทำมือ โดยนำไปสอดแทรกในวิชาศิลปะเพื่อให้เด็กๆได้เกิดแนวคิดสร้างสรรค์ และยังเป็นการช่วยลดปริมาณขยะ รวมทั้งช่วยส่งเสริมให้น้องๆ ในโรงเรียนหันมาสนใจการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นอีกด้วย จนได้รับรางวัลโรงเรียนส่งเสริมนิสัยรักการอ่านจาก สพฐ. ในปี 2546
โดยรูปแบบของสื่อทำมือ หนังสือหน้าสอง จะเน้นการนำเรื่องราวต่างๆที่เป็นความรู้ ไม่ว่าจะเป็น นิทาน การละ-เล่น ขนบธรรมเนียมประเพณี ชื่อสัตว์ ชื่อผลไม้ คำศัพท์ต่างๆ มาประกอบรูปภาพ และจัดทำให้หนังสือมีรูปลักษณ์ที่น่าสนใจดึงดูดอยากหยิบมาอ่าน เช่น หนังสือ POP-UP หนังสือยืด หนังสือหน้าเดียว หนังสือกล่อง หนังสือโคม เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมรักการอ่านแล้ว ยังทำให้เด็กนักเรียนได้มีความคิดสร้างสรรค์ มีความอดทน รู้จักวิเคราะห์และจับประเด็นให้เนื้อหาอยู่ในหน้ากระดาษที่จำกัดได้ โดยไม่ละทิ้งใจความสำคัญ และยังทำให้เกิดความภาคภูมิใจในผลงานอีกด้วย
ส่วนโรงเรียนบางบ่อพิทยาคม ได้นำโครงการผลิตสื่อหนังสือทำมือสอดแทรกในวิชาภาษาไทย โดยให้นักเรียนทำหนังสือทำมือให้รุ่นน้องและเพื่อนในโรงเรียนได้อ่าน จัดเป็นมุมหนังสือต่างๆ ทั่วโรงเรียน และทุกห้องเรียนจะต้องมีมุมหนังสือ เพื่อให้เด็กๆได้สร้างนิสัยรักการอ่านให้เป็นกิจวัตรติดตัวไปจนโต โดยความโดดเด่นของหนังสือทำมือของโรงเรียนจะนำเนื้อหาที่ส่วนใหญ่จะเป็นความรู้ในท้องถิ่นของอำเภอบางบ่อ เช่น การละเล่นท้องถิ่นของบางบ่อที่เรียกว่า "ผะหมี" (โจ๊ก) เป็นร้อยกรองปริศนาให้ทายกัน ซึ่งเป็นการละเล่นที่นับวันจะค่อยๆ สูญหายไปจากอำเภอหากไม่มีการสืบทอดกันไว้
สำหรับการละเล่น "ผะหมี" อาจารย์ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า น้องๆ จะนำเนื้อหาต่างๆ มาแต่งเป็นร้อยกรอง
ปริศนาคำทาย ตัวอย่างเช่น
พระ หนึ่งชำนาญด้าน ดนตรี (คำตอบ พระอภัยมณี)
พระ หนึ่งหลงสาวศรี พี่น้อง (คำตอบ พระลอ)
พระ หนึ่งวุ่นราวี ดึงนุช มานา คำตอบ พระราม)
พระ หนึ่งโปรยทานก้อง ส่ำสร้างผลบุญ (คำตอบ พระเวสสันดร)
ซึ่งนอกจากจะสร้างความรู้และความคิดสร้างสรรค์ให้กับคนทำและคนทายแล้ว ยังสร้างความสนุกสนานและความสามัคคีให้เกิดขึ้นในกลุ่มของนักเรียนในโรงเรียน ส่งผลให้ได้รับรางวัลโรงเรียนส่งเสริมนิสัยรักการอ่านจาก สพฐ. ในปี 2548 โดยในเรื่องนี้ "น้องชนะพล ปานสมบัติ" นักเรียนชั้น ม.5 รร.บางบ่อพิทยาคม ได้เล่าให้ฟังว่า "โครงการดังกล่าวมีส่วนช่วยส่งเสริมรักการอ่านได้มาก เพราะมีรูปแบบและสีสันที่สวยงามน่าสนใจ ซึ่งที่ผ่านมานักเรียนในโรงเรียนก็ให้ความสนใจ มีการสอนการทำให้กับรุ่นน้องๆ ด้วย เพราะม.4-ม.6 จะจัดทำให้น้องๆ ม.ต้นได้อ่าน ซึ่งผมจะชอบเนื้อหาเป็นเรื่องเอกลักษณ์ไทย เพราะส่วนใหญ่รุ่นหลังไม่ค่อยรู้จัก เช่น ขนมไทย วรรณคดีไทย ประวัติศาสตร์ และเนื้อหาธรรมะ เพราะปัจจุบันคนเรามีความเครียดมาก ถ้าได้อ่านหนังสือธรรมะก็ช่วยให้จิตใจดีขึ้น"
โครงการดังกล่าว แม้ว่าจะเป็นการเริ่มต้นสร้างสรรค์จากผลงานภายในโรงเรียน แต่ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่หลายๆ โรงเรียนสามารถนำมาเป็นต้นแบบในการนำไปปฏิบัติได้ เพราะนอกจากจะเป็นการส่งเสริมให้เด็กไทยได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้น้องๆรักการอ่านเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังถือเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย