ศาลอุทธรณ์ภาค 3 และดั๊บเบิ้ล เอ จัดกิจกรรมส่งเสริมเยาวชนรักษ์ภาษาไทย
ปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ผู้คนเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรม จากการพบปะพูดคุยกัน มาเป็นการสื่อสารข้อความตัวอักษรผ่านอุปกรณ์สื่อสารในโลกออนไลน์ ส่งผลให้การใช้ภาษาไทยผิดเพี้ยน โดยเฉพาะการอ่านและเขียน ที่ใช้ตัวสะกดและคำศัพท์ที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ภาษาไทย อันเป็นเอกลักษณ์ล้ำค่าที่บ่งบอกความเป็นไทย จะถูกกลืนไปตามเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่
ด้วยเหตุนี้ ดั๊บเบิ้ล เอ จึงร่วมสนับสนุนการจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ ของศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยมีกิจกรรมการแข่งขันเขียนภาษาไทยทั่วไปและภาษากฎหมาย พร้อมทั้งการจัดเสวนาในหัวข้อ "ภาษาไทย ภาษากฎหมาย ภาษาของเรา" เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยร่วมกันอนุรักษ์ภาษาไทยและใช้ภาษาอย่างถูกต้องตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ ณ อาคารสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม กรุงเทพมหานคร
สำหรับงานในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 จัดขึ้น ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี มีนักเรียนเข้าร่วมงานกว่า 200 คน จากทั้งหมด 10 โรงเรียน โดยช่วงแรกเป็นการเสวนาในหัวข้อ "ภาษาไทย ภาษากฎหมาย ภาษาของเรา" ที่ได้รับเกียรติจากคุณสมพงษ์ เหมวิมล ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นผู้ดำเนินการเสวนา และคุณกรรณิกา ธรรมเกษร อดีตผู้ประกาศข่าวและผู้ผลิตรายการเวทีวาที พร้อมด้วยคุณกนก รัตน์วงศ์สกุล ผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์และผู้บริหารในเครือเดอะเนชั่น ให้เกียรติร่วมเสวนาในครั้งนี้ ซึ่งมีข้อคิดดีๆในมุมมองนักสื่อสารมวลชนเกี่ยวกับภาษาไทยในยุคนี้ที่น่าสนใจเลยทีเดียว
"ภาษาไทยนั้นเป็นภาษาของความรู้สึก ส่วนใหญ่เรามักจะใช้ภาษาไทยไปอย่างไม่มีสติ เช่น เจอหน้าเพื่อน ก็ทักไปว่า มาแล้วเหรอ ทั้งที่เห็นเขาเดินมา การใช้ภาษาลักษณะนี้ถือว่าใช้อย่างฟุ่มเฟือย ไม่มีเหตุจำเป็นต้องใช้ ถ้าถามว่า ไปไหนมา หรือ ทานข้าวแล้วหรือยัง จะดูถูกต้องกว่า" คุณกรรณิกา อดีตพิธีกรชื่อดัง ผู้ซึ่งคร่ำหวอดในวงการโทรทัศน์ไทยมานาน และเป็นผู้ประกาศข่าวหญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลเมขลา เกริ่นนำการเสวนา และเพิ่มเติมว่า ที่ตนเองพูดจาเพราะ และออกเสียงได้ชัดถ้อยชัดคำ เพราะผู้ใหญ่สมัยนั้นพูดจากันไพเราะมาก เด็กจึงหัดจำและเลียนแบบกันมา นอกจากนี้คุณกรรณิกายังแนะนำให้ฝึกฝนการใช้ภาษาไทย ด้วยการ "จำแต่สิ่งดีๆ แล้วนำมาใช้" ซึ่งสามารถใช้ได้กับทุกเรื่อง ไม่เพียงเฉพาะการฝึกภาษาไทยเท่านั้น
คุณกนก รัตน์วงศ์สกุล ก็ได้เสริมเรื่องการใช้ภาษาไทยเพิ่มเติมว่า "เด็กในปัจจุบันต่างพูดไม่จบคำ ไม่จบประโยค ออกเสียงไม่ถูกอักขรวิธีเหมือนคนสมัยก่อน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เด็กใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับตัวเองและหน้าจอคอมพิวเตอร์ มีปฏิสัมพันธ์กับรอบข้างน้อยลง ทำให้เด็กขาดความมั่นใจตนเอง ไม่กล้าสบตาผู้อื่นเวลาพูด และไม่สามารถเรียบเรียงเรื่องราวต่างๆ ถ่ายทอดออกมาให้ผู้ฟังได้" ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นโดยตรงกับหลานของคุณกนกเองที่อยู่ชั้นมัธยมศึกษา และเมื่อเกิดปัญหานี้ขึ้น คุณกนกก็พยายามพัฒนาหลานตนเอง ด้วยการฝึกให้หลานเล่าเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในโรงเรียนให้ฟังทุกวัน เพื่อให้มีความมั่นใจและกล้าพูดกล้าแสดงออกมากขึ้น นอกจากนี้ด้วยวิธีการเรียนของเด็กในปัจจุบันก็มีส่วนให้ทักษะการใช้ภาษาไทยแย่ลง ไม่มีการฝึกท่องอาขยาน หรือฝึกเขียนไทย เหมือนเด็กสมัยก่อนอีกด้วย
สถานการณ์ที่คุณกนกกล่าวมา เป็นปัญหาสำคัญของเด็กไทยสมัยนี้ และมีแนวโน้มแย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 และดั๊บเบิ้ล เอ ได้ร่วมจัดงานเสวนา "ภาษาไทย ภาษากฎหมาย ภาษาของเรา" ขึ้น ด้วยหวังว่า น้องๆ นักเรียนซึ่งต่อไปจะเป็นอนาคตของชาติ ได้เป็นตัวแทนในการช่วยกันอนุรักษ์ภาษาไทยที่ถูกต้องต่อไป
ในขณะที่นักเรียนส่วนหนึ่งกำลังรับฟังการเสวนา อีกห้องหนึ่งก็มีกิจกรรมแข่งขันเขียนภาษาไทยทั่วไปและภาษากฎหมาย ซึ่งก็ได้เปิดรับสมัครนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เข้าร่วมแข่งขัน มีผู้ผ่านคัดเลือกเข้าสู่รอบตัดสินทั้งสิ้น 20 คน โดยทุกคนต่างก็เตรียมตัวกันเต็มที่ เพื่อประลองแข่งขันเขียนภาษาไทยให้ถูกต้อง ซึ่งจะกำหนดให้เขียนประเภทละ 15 คำ รวมทั้งหมด 30 คำ โดยคำศัพท์ที่นำมาแข่งขันในคราวนี้ นอกจากเป็นคำภาษาไทยที่ใช้กันทั่วไปแล้ว ยังนำภาษากฏหมายที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นหรือใช้มาก่อน ถือได้ว่าเป็นการวัดความรู้ความสามารถของแต่ละคนกันเลยทีเดียว โดยเฉพาะภาษากฏหมายที่ไม่ได้อยู่ในตำราเรียนของเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา
โดยผู้ชนะการแข่งขันอันดับที่ 1 ในครั้งนี้ คือ นางสาวสุธัญญา สนธยาสาระ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนหอวัง ซึ่งสมัครเข้ามาร่วมแข่งขัน เพราะสนใจด้านกฏหมาย และอยากเป็นผู้พิพากษา "หนูชอบกฏหมายมากเลยค่ะ พออาจารย์บอกว่า เปิดแข่งขันอยู่ ก็ไม่ลังเลรีบสมัครเข้ามาเลย โดยหนูเตรียมตัวด้วยการอ่านหนังสือประมวลกฏหมายค่ะ ประมาน 1 สัปดาห์ การแข่งขันครั้งนี้คำศัพท์ยากมากเลย ยกตัวอย่างเช่นคำว่า ฉัททันต์ ที่แปลว่า ช้าง เป็นคำที่หนูไม่เคยเห็นมาก่อนค่ะ"
และผู้ที่อยู่เบื้องหลังชัยชนะของน้องสุธัญญาคือ อาจารย์อรินยา สถิรชาติ หัวหน้ากลุ่มสาระภาษาไทย โรงเรียนหอวัง ซึ่งอาจารย์ได้บอกว่า "ชัยชนะครั้งนี้เหนือความคาดหมายมาก เพราะเวลากระชั้นชิด ไม่ทันได้เตรียมตัว แต่ก็ให้ลูกศิษย์พยายามทำให้ดีที่สุด" และเมื่อถามถึงความเห็นของอาจารย์ต่อการใช้ภาษาในอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน อาจารย์ได้ให้ความเห็นไว้ว่า "โดยส่วนตัวครูไม่ว่าถ้านักเรียนจะใช้คำศัพท์แปลกๆในอินเทอร์เน็ต แต่ควรพิจารณาด้วยว่า คำเหล่านั้นสามารถนำมาใช้กับบุคคลทั่วไปได้หรือไม่ ควรใช้ภาษาแบบใดจึงจะถูกกาลเทศะ และควรคำนึงถึงสังคม สถาบัน ชื่อเสียงวงศ์ตระกูลของตนเองด้วย"
อย่างไรก็ตามน้องๆ ผู้ที่พลาดจากการแข่งขันนี้ ก็ไม่ได้รู้สึกเสียใจ เพราะการมาแข่งขันเขียนไทยคราวนี้ เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้น้องๆ รู้ว่า การเข้ามาทำงานในโลกของศาลยุติธรรมนั้น น้องๆ จะต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง และรู้คำศัพท์เพิ่มเติมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาต่อในอนาคต ดังเช่นความเห็นของน้องศรีนรัตน์ พงษ์ประภาชื่น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนพระหฤทัยดอนเมือง ที่ได้รับรางวัลชมเชยในครั้งนี้ "หนูต้องขอขอบคุณศาลอุทธรณ์ภาค 3 และผู้ใหญ่ทุกท่านมากค่ะ ที่ให้โอกาสหนูมาร่วมงานนี้ และได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อเตรียมสอบเป็นผู้พิพากษาอย่างที่หนูใฝ่ฝันไว้ค่ะ ก่อนหน้านี้หนูก็เคยมาแข่งอ่านกฏหมายที่นี่ และถ้าทางศาลจัดงานอะไรในอนาคต หนูก็จะมาอีกค่ะ"
งานแข่งขันเขียนไทยในวันนั้นจบลงด้วยดี และน้องๆ นักเรียนทุกคนก็ได้ให้คำปฏิญาณว่า ทุกคนจะช่วยกันอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นมรดกอันล้ำค่าที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้อย่างสุดความสามารถ ตามคำกล่าวของคุณกรรณิกาที่ว่า "โปรดจงอย่าลืมรากเหง้าของความเป็นไทย โดยเฉพาะภาษาไทยที่บรรพบุรุษสร้างไว้ให้เรา และยังคงเหลืออยู่ในปัจจุบัน"