Follow us

กิจกรรม A to a “Young Robot Maker โรบอท...อัจฉริยะสั่งได้ อาชีพยุคดิจิทัล”

เมื่อพูดถึง “หุ่นยนต์” เรามักจะนึกถึงหนังการ์ตูนหรือเหล่าซุปเปอร์ฮีโร่เป็นอันดับแรก เพราะในอดีตหุ่นยนต์ เกิดจากจินตนาการของมนุษย์ที่เหนือความจริง แต่เมื่อเวลาผ่านไปใครจะคาดคิดว่าหุ่นยนต์ได้กลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นจริงและมีบทบาทสำคัญพลิกโฉมโลกก้าวสู่ยุคดิจิทัลในปัจจุบันนี้ 

    ดั๊บเบิ้ล เอ จึงได้จัดกิจกรรม A to a  “Young Robot Maker โรบอท...อัจฉริยะสั่งได้ อาชีพยุคดิจิทัล” เพื่อให้น้องๆเยาวชน ได้รู้จักกับอาชีพการสร้างหุ่นยนต์ จุดประกายแรงบันดาลใจสู่อาชีพในอนาคต  โดยพาพี่ๆ “A” จิตอาสาในอาชีพวิศวกรหุ่นยนต์และชมรมครูหุ่นยนต์ไทย มาแนะนำอาชีพการสร้างหุ่นยนต์ พร้อมทั้งถ่ายทอดประสบการณ์และเวิร์กชอปประดิษฐ์หุ่นยนต์ขับเคลื่อนได้จริงให้กับน้อง “a” ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านท่าตูม จ.ปราจีนบุรี

    นายชาญวิทย์ จารุสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดั๊บเบิ้ล เอ กล่าวถึงที่มาโครงการว่า “กิจกรรม A to a ถือเป็นหนึ่งในโครงการ Double A Better Tomorrow  ปลูกฝัน ปลูกปัญญา ที่ได้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2557 ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่จะเติมเต็มฝันให้กับลูกหลานชาวนาและเยาวชนโดยเฉพาะเยาวชนในชนบทที่ขาดแรงบันดาลใจ ขาดผู้ให้คำแนะนำ หรือโอกาสที่จะได้พบเห็นและเรียนรู้จากตัวอย่างดีๆ ดั๊บเบิ้ล เอ จึงได้ชวนพี่ๆ ในแต่ละอาชีพ ให้มาเป็นพี่ “A” (ใหญ่) เพื่อร่วมสร้างแรงบันดาลใจและถ่ายทอดประสบการณ์ให้น้อง “a” (เล็ก) ซึ่งหมายถึงน้องๆ ลูกหลานชาวนา และเยาวชนได้กล้าคิดกล้าฝัน ก้าวสู่อาชีพที่ดีในอนาคต โดยที่ผ่านมาดั๊บเบิ้ล เอ จัดกิจกรรม A to a แนะนำอาชีพให้น้องๆ “a” ไม่ว่าจะเป็น สัตวแพทย์  นักพากย์เกม  ช่างภาพออนไลน์  นักกีฬาวอลเล่ย์บอลทีมชาติไทย นักเขียนซีไรต์ เป็นต้น”

    กิจกรรม Young Robot Maker ได้เริ่มต้นในภาคเช้าด้วยการแนะนำอาชีพจาก คุณกัมปนาท ตันพิทักษ์สิทธิ์ หรือพี่เบิ้ม ผู้อำนวยการบริษัท โรบอท ซิสเต็ม จำกัด วิศวกรหุ่นยนต์ที่สามารถสร้างรายได้ 100 ล้านบาทต่อปี ซึ่งให้เกียรติมาเป็นพี่ “A” ผ่านคลิปวีดิโอสัมภาษณ์ โดยพี่เบิ้ม ทำธุรกิจสร้างหุ่นยนต์อุตสาหกรรมให้กับโรงงานต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมอาหาร ฯลฯ  โดยพี่เบิ้มมีแรงบันดาลใจตั้งแต่เด็กๆ คือชอบเล่นหุ่นยนต์ และสมัยเรียนก็เข้าร่วมกิจกรรมแข่งขันหุ่นยนต์ต่างๆ ทำให้มุ่งหน้าเรียนต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ไฟฟ้า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  จบก็ศึกษาต่อปริญญาโท วิศวกรหุ่นยนต์ ในต่างประเทศและทำงานหาประสบการณ์ที่ประเทศญี่ปุ่นก่อนกลับมาทำธุรกิจของตัวเองที่ไทย   โดยพี่เบิ้มแนะนำว่า สำหรับอาชีพสร้างหุ่นยนต์ต้องมองว่า เราทำหุ่นยนต์เพื่อไปทำอะไร แก้ปัญหาให้ลูกค้าอย่างไร ที่สำคัญต้องมีใจรัก ชอบสิ่งที่ทำด้วย  น้องๆที่อยากเข้าสู่อาชีพนี้ ควรศึกษาสายวิศวกรรรมศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรไฟฟ้า เครื่องกล คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะพวกโปรแกรมซอฟต์แวร์ต่างๆ ควรให้ความสำคัญ เพราะสามารถต่อยอดสู่การพัฒนาด้านอื่นๆ เนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เช่น ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI

    ต่อจากนั้นก็เข้าสู่ช่วงเวิร์กชอปให้น้องๆได้ลงมือปฏิบัติ “สร้างหุ่นยนต์แขนกล”  โดยมีพี่ “A” จากชมรมครูหุ่นยนต์ไทย และคุณจิรพิพัฒน์ ธัญพงษ์ภัทร ผู้อำนวยการสถาบันวิศวกรรมหุ่นยนต์ โรบอทแอนด์ซายด์   เล่าถึงยุคที่หุ่นยนต์เข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวันและการทำงานมากขึ้น  พร้อมทั้งจัดเตรียมส่วนประกอบมาให้น้องๆได้ทดลองปฏิบัติสร้างหุ่นยนต์ให้ขับเคลื่อนได้จริง เริ่มจากการแนะนำส่วนประกอบต่างๆ  หน้าที่การทำงานของแต่ละชิ้นส่วน ซึ่งการสร้างหุ่นยนต์แขนกลนี้ จะใช้การบังคับด้วยโทรศัพท์มือถือผ่านแอปพลิเคชั่น   หลังจากน้องๆแบ่งกลุ่มเป็นทีม แจกจ่ายหน้าที่กันในทีมและเริ่มประกอบกันอย่างขะมักเขม้น  โดยทีมพี่ “A” แนะนำและสอนน้องๆในเรื่องแผงวงจรที่ต้องใช้  การต่อวงจรไฟฟ้า รู้จักการใช้อุปกรณ์เครื่องมือ  เพียงไม่นานน้องๆ “a” ก็สามารถสร้างหุ่นยนต์แขนกล จนสำเร็จ  และถึงช่วงสำคัญคือ การนำหุ่นยนต์ลงสนามแข่งขัน  เริ่มจากการบังคับให้หุ่นยนต์เดินซิกแซก  ยกคีบกล่องนำไปวางในจุดที่กำหนด   ด้วยบรรยากาศเสียงเชียร์หุ่นยนต์ของทีมตัวเองอย่างสนุกสนานและลุ้นไปพร้อมๆกัน   โดยหุ่นยนต์ที่น้องๆประกอบขึ้นนี้ก็ได้มอบให้กับโรงเรียนบ้านท่าตูม เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนต่อไป

    ด.ญ.ณัชชา เกษร หรือน้องปราย ชั้นม.2 กล่าวถึงกิจกรรมว่า “จากกิจกรรม A to a ในครั้งนี้ ทำให้รู้ว่า หุ่นยนต์มีบทบาทอย่างไรในปัจจุบันและอนาคตจะไปทิศทางไหน หลังจากอบรมก็จะนำไปสอนน้องๆ เพราะโรงเรียนเริ่มส่งเสริมให้นักเรียนได้คิดพัฒนาแอปพลิเคชั่นให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งก็มีการพัฒนาแอปฯดูแลแปลงผัก โดยสั่งงานระยะไกลค่ะ”

    นายชานนท์  ป้องปาน หรือน้องเจ ชั้นม.3  ได้พูดถึงความรู้สึกในกิจกรรมว่า “ขอบคุณดั๊บเบิ้ล เอ ที่ให้โอกาสได้พบกับพี่ A ได้สร้างหุ่นยนต์และบังคับได้จริง  กิจกรรมครั้งนี้ทำให้ผมรู้จักแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น และคิดว่าหุ่นยนต์มีประโยชน์ในอุตสาหกรรม สามารถนำไปใช้งานในส่วนที่เป็นอันตรายแทนมนุษย์ได้ เช่น การพ่นสีรถยนต์ การทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับสารเคมีหรือที่มีความเสี่ยง  ในอนาคตผมอยากเรียนทางสายอาชีวะ ช่างกลอุตสาหกรรม เพราะชอบซ่อมแซมครับ”

    ไม่ว่าจะเป็นอาชีพอะไร สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องมีใจรักมีความสนใจในสิ่งที่ตัวเองชอบ จะช่วยให้เกิดแรงบันดาลใจให้เราเพียรพยายามอย่างเต็มที่เพื่อก้าวไปสู่อาชีพที่ฝันไว้  หากใครยังคิดไม่ออกว่าอาชีพอะไรใช่สำหรับเราก็สามารถดูคลิปพี่ A อาชีพต่างๆได้ที่ Youtube Double A Thailand

 

ภาพประกอบ

ข่าวประชาสัมพันธ์

Double A ร่วมสนับสนุนงาน World Expo 2020 Dubai ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลสู่สายตาทั่วโลก

ดั๊บเบิ้ล เอ ร่วมกิจกรรม “Thailand Pavilion Launch & Networking Reception” ในฐานะผู้สนับสนุนการจัดอาคารแสดงประเทศไทย (Thailand Pavilion) งาน World Expo 2020 Dubai ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 มหกรรมงานระดับโลก ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 -31 มีนาคม 2565 ณ เมืองดูไบ เพื่อมุ่งสร้างความเชื่อมั่น ส่งเสริม และสร้างโอกาสใหม่สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลประเทศไทยผ่านการลงทุน การค้า สู่สายตาประชาคมโลก โดยมี นายวราวุธ ภู่อภิญญา (คนกลาง) เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ให้เกียรติเป็นประธานในกิจกรรม ณ โรงแรมดุสิตธานี ดูไบ เมื่อเร็ว ๆ นี้

ดั๊บเบิ้ล เอ เปิดตัว “กระดาษคราฟท์” พร้อมจำหน่าย รองรับตลาดอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์

ดั๊บเบิ้ล เอ เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ “กระดาษคราฟท์” เพื่ออุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ กำลังการผลิต 250,000 ตันต่อปี พร้อมทำการตลาดและจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตั้งเป้าสร้างรายได้ 3,000 ล้านบาทต่อปี นายชาญวิทย์ จารุสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดั๊บเบิ้ล เอ เปิดเผยว่า ความต้องการกระดาษคราฟท์ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ทั่วโลกมีประมาณ 164 ล้านตันต่อปี และยังคงมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเฉลี่ยประมาณปีละ 2.5 % โดยตลาดในแถบเอเชียแปซิฟิค ถือเป็นตลาดที่มีความต้องการบริโภคกระดาษคราฟท์มากที่สุดในโลก หรือเกือบครึ่งหนึ่งของโลก และเฉพาะตลาดในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิคที่ไม่รวมประเทศจีน ก็มีความต้องการมากถึง 30 ล้านตันต่อปี และมีอัตราการเติบโตสูงที่สุด คือ 4 % ต่อปี ทั้งนี้ ดั๊บเบิ้ล เอ ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ตลาดกระดาษคราฟท์มาตั้งแต่ปี 2562 โดยมีการลงทุนสร้างโรงเยื่อ RECYCLE PULP (RCP) แห่งใหม่ขึ้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ด้วยงบลงทุน 1,000 ล้านบาท มีการเดินเครื่องจักรเรียบร้อยแล้ว และได้ปรับกระบวนการผลิตของโรงกระดาษที่ตั้งอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา รวมถึงโรงกระดาษ 1 ที่จังหวัดปราจีนบุรี มาผลิตกระดาษคราฟท์ กำลังการผลิตอยู่ที่ 250,000 ตันต่อปี และมีผลิตภัณฑ์แรกที่พร้อมจำหน่ายแล้ว คือ กระดาษคราฟท์เพื่อทำลอนกล่องลูกฟูก CORRUGATED MEDIUM (CM) สำหรับการทำตลาดกระดาษคราฟท์นั้น ดั๊บเบิ้ล เอ วางแผนทำการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเริ่มจากประเทศในแถบเอเชียก่อน โดยอาศัยข้อได้เปรียบจากการที่ดั๊บเบิ้ล เอ มีเครือข่ายการตลาดทั่วโลก นอกจากนี้ กำลังการผลิตส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับโรงงานกล่องกระดาษของดั๊บเบิ้ล เอ ด้วย เพื่อทดแทนการใช้วัตถุดิบจากภายนอก ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์ใหม่จะสามารถสร้างรายได้ให้กับดั๊บเบิ้ล เอ ได้ไม่น้อยกว่าปีละ 3,000 ล้านบาท และช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของดั๊บเบิ้ล เอ มากขึ้น เนื่องจากตลาดกระดาษเพื่อบรรจุภัณฑ์ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น ปัจจุบัน ดั๊บเบิ้ล เอ มีผลิตภัณฑ์หลัก คือ เยื่อกระดาษใยสั้น กระดาษพิมพ์เขียน กระดาษสำนักงาน และผลิตภัณฑ์เครื่องเขียนกลุ่มกระดาษ รวมทั้งผลิตภัณฑ์เครื่องเขียนกลุ่มทั่วไป ได้แก่ ปากกา ปากกาเน้นข้อความ ปากกาลบคำผิด เครื่องเย็บกระดาษ กระเป๋าผ้า ซึ่งมีการจำหน่ายในทุกช่องทาง รวมทั้งช่องทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ delivery.doubleapaper.com ซึ่งบริการเดลิเวอรี่ส่งสินค้าให้ลูกค้าได้ทั่วประเทศ ทั้งนี้เพื่อรองรับกับความต้องการและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคทั้งกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และคนทำงานในยุค New Normal สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียดของผลิตภัณฑ์กระดาษคราฟท์ สามารถสอบถามและสั่งซื้อได้ที่โทร.085 835 3794 (สำหรับลูกค้าในประเทศ) และโทร.085 835 4098 (สำหรับลูกค้าต่างประเทศ)

ดั๊บเบิ้ล เอ สร้างปรากฏการณ์สุดเจ๋งใน MV วง OK GO ตอกย้ำกระดาษคุณภาพที่ผู้ใช้ทั่วโลกไว้วางใจ

ปรากฏการณ์ใหม่ระดับโลกเมื่อดั๊บเบิ้ล เอจับมือกับศิลปินวง OK GO วงดนตรีสุดครีเอท แนวอัลเทอร์เนทีฟร็อก จากสหรัฐอเมริกา ที่มีผลงานเพลงและมิวสิค วิดีโอที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางสร้างเซอร์ไพร์สให้กับแฟนเพลงทั่วโลกอีกครั้ง ในมิวสิควิดีโอเพลง Obsession ด้วยเทคนิค Paper Mapping เป็นครั้งแรกของโลก โชว์คุณภาพดั๊บเบิ้ล เอ ที่ส่งออกไปแล้วกว่า 130 ประเทศ โดยศิลปิน OK GO ได้สัมผัสถึงความเรียบลื่นและคุณสมบัติเด่นของกระดาษดั๊บเบิ้ล เอที่ สามารถพรินต์ออกมาโดยไร้อุปสรรคใดๆ จนเกิดแรงบันดาลใจ“OBSESSION for Smoothness” ในการนำมาสร้างสรรค์ฉากอลังการที่น่าตื่นตาตื่นใจในมิวสิควิดีโอชุดนี้ ซึ่งดั๊บเบิ้ล เอ เห็นถึงความเป็นสากลของดนตรีและความคิดสร้างสรรค์ของวง OK GO ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายรุ่นใหม่ๆ สื่อสารภาพลักษณ์ ที่เฟรชขึ้น สนุกขึ้น แต่ยังคงหนักแน่นในเรื่องคุณภาพสินค้าที่ทุกคนไว้วางใจ

ดั๊บเบิ้ล เอ ร่วมเสวนาความยั่งยืนของทรัพยากรโลกที่สิงคโปร์

นายฐีระวิตต์ ลี้ถาวร Senior Executive Vice President ดั๊บเบิ้ล เอ (ที่ 1 จากซ้าย) ร่วมเสวนาในงาน Singapore Dialogue on Sustainable World Resources ครั้งที่ 3 เพื่อนำเสนอแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของผลิตภัณฑ์กระดาษดั๊บเบิ้ล เอ ที่มีเอกลักษณ์ในการทำงานร่วมกับชาวนาเพื่อสร้างแหล่งวัตถุดิบที่ยั่งยืน โดยส่งเสริมให้ชาวนาปลูกต้นกระดาษบนคันนา เพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพื้นที่ว่างทางการเกษตรที่ชาวนาไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยมี Mr Anderson Tanoto (ขวาสุด) Director of Royal Golden Eagle Pte. Ltd. และ Mr Nazir Foead (ที่ 2 จากซ้าย) Head of Indonesia’s Peatland Restoration Agency เป็นผู้ร่วมเสวนา และมี Prof. Simon Tay (ที่ 3 จากซ้าย) Chairman of Singapore Institute of International Affairs เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ ประเทศสิงคโปร์เมื่อเร็ว ๆ นี้

ดั๊บเบิ้ล เอ สนับสนุนเดินวิ่งการกุศลของม.ธรรมศาสตร์

ดั๊บเบิ้ล เอ สนับสนุนงานเดินวิ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ครั้งที่ 1 เพื่อนำรายได้จากการจัดกิจกรรมมอบให้โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ในการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับใช้ในผู้ป่วยวิกฤตและมอบให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในโอกาสเฉลิมฉลอง 100 ปีชาตกาลศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยมีนายชาญวิทย์ จารุสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ดั๊บเบิ้ล เอ และศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเปิดงานพร้อมกับแสดงความยินดีผู้ชนะเลิศทั้งชายและหญิงในประเภท Over All ของกิจกรรมครั้งนี้

ดั๊บเบิ้ล เอ เปิดบ้านต้อนรับสำนักงานปลัดก.กลาโหม

ดั๊บเบิ้ล เอ กระดาษจากคันนา Better Paper Better World เปิดบ้านต้อนรับคณะข้าราชการจากกรมการสรรพกำลังกลาโหม สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม โดยมีพันเอกอัฐพงศ์ พิชญาภรณ์ ผู้อำนวยการกองทรัพยากร กรมการสรรพกำลังกลาโหม (คนที่ 3 จากขวา) เข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตเยื่อและกระดาษที่ใช้เทคโนโลยีอันทันสมัย มีระบบการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่ได้รับมาตรฐาน ISO 14001 พร้อมชมภาพยนตร์แบบ 4 มิติ เพื่อเรียนรู้โมเดล “กระดาษจากคันนา” มาตรฐานใหม่ของโลกในการผลิตกระดาษที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นการสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรกว่า 1.5 ล้านราย ในการปลูกต้นกระดาษบนคันนาหรือตามพื้นที่ว่างทางการเกษตรที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และมีส่วนช่วยลดโลกร้อน ซึ่งกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ 1 รีม ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 12.5 กิโลกรัม ทำให้ผู้บริโภคมีส่วนในการช่วยลดโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย ณ โรงงานดั๊บเบิ้ล เอ จ.ปราจีนบุรี