ดั๊บเบิ้ล เอ สร้างชื่อคว้ารางวัล CSR ในเวทีโลก บทพิสูจน์โมเดล CSR โฉมใหม่ "กระดาษจากคันนา" สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
การดำเนินธุรกิจที่ควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสังคม ในปัจจุบันนี้ ได้กลายเป็นพันธกิจหนึ่งที่ในองค์กรต่างๆ ทำมากขึ้น ทั้งที่แบบทำอย่างจริงจังและแบบทำตามกระแส แต่การทำ CSR อย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องมีการจัดการและปฎิบัติอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ให้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับการดำเนินธุรกิจ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) เป็นองค์กรธุรกิจหนึ่งที่ถือว่าประสบความสำเร็จในการวางกลยุทธ์ด้าน CSR ที่เกิดจาก "โมเดลกระดาษจากคันนา" หรือ Paper From KHAN-NA ที่พัฒนารูปแบบตอบโจทย์ทางสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ว่าเป็นแนวทางแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการริเริ่มส่งเสริมปลูกต้นกระดาษบนคันนา จากอดีตที่คันนาถูกปล่อยว่างไม่ได้ทำประโยชน์ ให้กลับมีคุณค่า เป็นแหล่งสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่งให้กับเกษตรกร และยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์แห่งใหม่ ช่วยลดโลกร้อน โดยปัจจุบัน ต้นกระดาษบนคันนาได้สร้างรายได้ให้กับเกษตกรรวมแล้วกว่า 1.5 ล้านราย และช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 6.7 ล้านตันต่อปี หรือรีมละ 12.5 กิโลกรัม จากโมเดล CSR นี้เองที่ทำให้ดั๊บเบิ้ล เอ คว้ารางวัลด้านกิจกรรมที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม CSR ในระดับนานาชาติถึง 3 รางวัล
นายชาญวิทย์ จารุสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งประชากรมากกว่า 40% มีอาชีพเกษตรกรและปลูกข้าวเป็นหลัก ทำให้มีพื้นที่ว่างรอบนาข้าวค่อนข้างมาก หรือที่เรียกว่า "คันนา" ซึ่งถูกปล่อยว่างไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร ด้วยเหตุนี้ ดั๊บเบิ้ล เอ จึงริเริ่ม โมเดลใหม่ คือ ส่งเสริมการปลูกต้นกระดาษบนคันนา ช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง นอกจากการปลูกพืชหลัก และยังเพิ่มพื้นที่สีเขียว ช่วยลดโลกร้อนได้อีกด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีพื้นที่ว่างอื่นๆ อีกมากมาย เช่น แนวเขตที่ ขอบแปลง ขอบบ่อ รอบรั้วหน้าบ้าน-หลังบ้าน หรือพื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร ก็สามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นรายได้เสริมได้เช่นกัน
นอกจากการสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรแล้ว ยังเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพเสริมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนให้กับชุมชนและสังคม ไม่ว่าจะเป็น เกิดการรับจ้างตัดไม้ ขนส่งไม้ ไปจนถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น การทำเฟอร์นิเจอร์ ส่งออกชิ้นไม้สับ เป็นต้น โดย CSR ที่ดั๊บเบิ้ล เอ ดำเนินการ ภายใต้โมเดลธุรกิจกระดาษจากคันนา หรือ "Paper From KHAN-NA" มี 4 ด้านหลักด้วยกันคือ การศึกษา เกษตรกร สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ล้วนเชื่อมโยงและตอบโจทย์สร้างความยั่งยืนให้กับทุกภาคส่วนในสังคมไทย จึงเป็นที่มาของ 3 รางวัลใหญ่ในระดับภูมิภาคภายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2554 - 2555)
รางวัลแรกเป็นรางวัล Asian CSR Awards ในฐานะองค์กรที่ช่วยขจัดความยากจนในเอเชีย ที่ดั๊บเบิ้ล เอ เข้ารับรางวัลจากประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ในงาน Asia's premier CSR awards ณ กรุงมะนิลาเมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมา ทำให้กระดาษจากคันนากลายเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากทั่วโลกมากขึ้น ซึ่งรางวัลนี้พิจารณาจากโครงการ CSR ที่มีความโดนเด่นด้านนวัตกรรมหรือบริการ ที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบถึงแหล่งวัตถุดิบ และกระบวนการผลิตสินค้าที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย โดยมีโครงการกว่า 175 โครงการ จาก 129 บริษัท ใน 14 ประเทศทั่วโลกส่งเข้าคัดเลือก ทั้งนี้ดั๊บเบิ้ล เอ ได้รับรางวัล ควบคู่กับองค์กรชั้นนำระดับโลก เช่น Abbott, Citibank Pakistan, Pfizer เป็นต้น
รางวัลที่ 2 คือ รางวัล Hong Kong CSR Award ซึ่งเป็นรางวัลที่คำนึงถึงเรื่องกิจกรรม CSR เข้าสู่วิสัยทัศน์ และกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทอย่างแท้จริง โดย ดั๊บเบิ้ล เอ ได้รับเลือกในฐานะองค์กรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสังคมตั้งแต่แรกเริ่มดำเนินธุรกิจ โดยเป็นผู้พลิกโฉมอุตสาหกรรมกระดาษโลก ริเริ่มการปลูกต้นกระดาษบนคันนาบนพื้นที่ว่างเปล่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรกว่า 5 พันล้านบาทต่อปี พร้อมทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียวช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
และรางวัลที่ 3 ที่ดั๊บเบิ้ล เอ เพิ่งได้รับมาหมาดๆ เป็นรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมดีเด่นแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สาขา "Green Leadership Award 2012" จากงาน "Asia Responsible Entrepreneurship Awards -Southeast Asia (AREA-SEA Awards) 2012" ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งพิจารณาคัดเลือกจากบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมดีเด่น (Green Leadership) จาก 11 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยหลักเกณฑ์การมอบรางวัลพิจารณาจากบริษัทที่ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างบูรณาการในทั้งกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับหลักโมเดล "กระดาษจากคันนา" ที่เน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทางในการผลิตกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ ทำให้ทุกคนที่ใช้กระดาษดั๊บเบิ้ล เอ นั้น ล้วนแล้วแต่มีส่วนช่วยลดโลกร้อน และสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกรไทย
ปัจจุบันกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ มีการส่งออกไปแล้วกว่า 100 ประเทศทั่วโลก และได้เปิดตัวสัญลักษณ์กระดาษจากคันนา "Paper from KHAN-NA" เพื่อเป็นสัญลักษณ์นำเสนอมาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมใหม่สำหรับอุตสาหกรรมกระดาษของโลก โดยดั๊บเบิ้ล เอ ได้ติดสัญลักษณ์ดังกล่าวในทุกห่อรีมกระดาษ ทั้งที่ขายในประเทศไทยและที่ส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เพื่อสื่อสารแนวคิด "กระดาษจากคันนา" ให้ชาวต่างประเทศได้รู้จักและได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนไทยและประเทศไทยมากขึ้น โดยขณะนี้ได้เริ่มที่ประเทศในแถบเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง
บทพิสูจน์จากรางวัลที่ดั๊บเบิ้ล เอ ได้รับนี้ ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจและโดดเด่น ในการวางแนวคิดทางสังคมที่สอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกับการดำเนินธุรกิจได้อย่างกลมกลืนและยั่งยืน แถมยังตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่นอกจากจะคำนึงถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์แล้ว ยังต้องการมีส่วนช่วยรักษาป่าธรรมชาติ ช่วยเหลือเกษตรกรที่ยากจนให้มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และให้พื้นที่ว่างเปล่ากลายเป็นพื้นที่สีเขียว ช่วยลดโลกร้อน เป็นบทสรุปให้เห็นว่าการดำเนินธุรกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการคิดดีทำดี ก็สามารถจะเป็นส่วนที่ผลักดันให้ประเทศนั้นๆ เติบโตทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และชุมชนพร้อมกันอย่างยั่งยืน