ดั๊บเบิ้ล เอ จัดเสวนา "อยู่กับน้ำ" Dont let Flood STOP your Life เพื่อปลุกกำลังใจคนไทยให้เข้มแข็ง และใช้ชีวิตอยู่กับน้ำได้อย่างมีความสุข
คุณชาญวิทย์ และวิทยากรที่ร่วมเสวนาฯ
พระมหาหรรษา การบรรยายธรรม เรียกขวัญและกำลังใจ
จากมหาอุทกภัยที่คนไทยต้องเผชิญร่วมกัน และเป็นปัญหาที่ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หลายคนตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าน้ำมาถึงแล้ว จะอพยพดี หรือจะอยู่กับน้ำดี แต่เชื่อเหลือเกินว่า ไม่มีใครอยากจะอพยพมาอยู่ข้างนอกบ้าน แต่สิ่งที่หลายคนยังตั้งข้อสงสัยว่า แล้วเราจะอยู่กับน้ำได้จริงหรือ จากคำถามดังกล่าว ดั๊บเบิ้ล เอ จึงจัดงานเสวนา "อยู่กับน้ำ" Don't let Flood STOP your Life ขึ้น โดยเชิญกูรูสาขาต่างๆ มาบอกเล่าถึงประสบการณ์และแนะนำวิธีที่จะทำให้เราทุกคนอยู่กับน้ำได้อย่างมีความสุข
บรรยาการการเสวนา อยู่กับน้ำ จากกูรูสาขาต่างๆ
ตั้งใจฟัง
โดยงานในวันนั้น เริ่มจากการร่วมฟังการบรรยายธรรม จาก พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็น 1 ในหลายๆวัดแรก ๆ ที่ประสบภัยใน อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา แต่ด้วยการเตรียมความพร้อม มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงได้กลายเป็นศูนย์กลางของคนกว่า 3,000 ครอบครัว แม้จะลำบาก แต่พระมหาหรรษา บอกว่า รู้สึกภูมิใจ เพราะการไม่ย้ายไม่อพยพของเรา ทำให้ทุกคนในชุมชนสามารถต่อสู้ยืนหยัดจนวันนี้น้ำลดลงไปกว่า 60 ซม.แล้ว แต่ประเด็นวันนี้ คือ ถ้าเราไม่หนีน้ำเราจะทำอย่างไร สิ่งสำคัญคือ เราต้องปรับตัวเข้ากับน้ำให้ได้ เวลาสายน้ำเดินทางผ่านมาเรามักจะเป็นทุกข์ สโลแกนของพระมหาหรรษา คือ "อยู่กับน้ำให้เป็นไม่เห็นความทุกข์" ซึ่งพระมหาหรรษา กล่าวว่า ขณะนี้คนส่วนใหญ่เวลาน้ำวิ่งเข้ามาหาน้ำไม่ได้ท่วมแค่กาย แต่น้ำได้ท่วมไปที่ใจ เพราะขณะนี้คนที่ประสบภัยไปแล้ว หรือคนที่กำลังจะประสบภัย จะมีความโกรธและความโลภ
สอบถามสถานการณ์น้ำนอกรอบ
ซึ่งหลังจากนี้อาตมาอยากให้ทุกคนที่เป็นผู้ประสบภัยแล้ว และคนที่กำลังจะเป็นผู้ประสบภัย ตั้งสติให้ดีและไล่เรียงลำดับความสำคัญว่าอะไรควรเก็บควรทำก่อนหลัง ขอให้คิดว่าทุกอย่างเป็นอนิจจัง มีท่วมก็ต้องมีแห้ง ขอให้ทุกคนเข้าใจว่าสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น มันคงอยู่กับเราไม่นาน ขอให้อดทน และอาตมาไม่แนะนำให้คนที่มีบ้าน 2 ชั้น ย้ายบ้าน แต่ที่สำคัญคนที่รับผิดชอบอย่าไปตัดน้ำ ตัดไฟเขา เพราะเขาดูแลของเขาได้
ดั๊บเบิ้ล เอ มอบเรือเมล์เพื่อผู้ประสบภัย
ขณะที่ คุณสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ หรือ พี่เช็ค โปรดิวเซอร์รายการคนค้นฅน บอกเล่าถึงประสบการณ์ในการลงพื้นที่จริงได้อย่างน่าสนใจ "น้ำท่วมครั้งนี้กินพื้นที่กว้างขวางมาก ตั้งแต่ชนบท ที่คนเรียนรู้ที่จะอยู่กับน้ำ จนถึงใจกลางมหานคร คนที่อยู่ไม่มีทั้งความรู้ ไม่คุ้นชินและไม่ได้มีการเตรียมพร้อมที่จะอยู่กับน้ำ ดังนั้นการลงไปจัดการกับปัญหาเหล่านี้ในบริบทมันมีความแตกต่างกัน และคนถูกน้ำท่วมยังถูกน้ำท่วมด้วยดีกรีที่แตกต่างกัน ซึ่งจากการลงพื้นที่ผมพบว่า ในกลุ่มคนที่ถูกน้ำท่วม เป็น 5 ประเภท คือ 1. เดือดร้อน 2.ลำบาก 3.ยากเย็น 4.เข็ญใจ และ 5.ไม่ไหวแล้วโว้ย คือ เดือดร้อน ลำบาก ยากเย็น เข็ญใจ ทำให้วิธีที่เราจะต้องลงไปช่วยเหลือจะแตกต่างกัน ประกอบกับการมีต้นทุนบางอย่าง บางพื้นที่ที่มีทุกข์กับน้ำท่วมมาก เพราะไม่มีต้นทุน มีความแตกแยก ไม่มีความสามัคคี แต่บางพื้นที่มีผู้นำที่เข้มแข็ง รวมกลุ่ม และจัดการทำให้ชุมชนอยู่ได้ แต่ในพื้นที่ส่วนใหญ่เมื่อถูกน้ำท่วมต่างคนต่างคิดจะเอาตัวรอด ทำให้ทั้งตัวเองและชุมชน ไม่สามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้"
น้ำใส น้ำใจ เพื่อผู้ประสบภัย จากดั๊บเบิ้ล เอ
ด้าน นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขและผู้ดำเนินโครงการชุมชนคลองมหาสวัสดิ์ เล่าถึงประสบการณ์จากฐานะผู้ประสบภัยกลับมาเป็นผู้ช่วยเหลือว่า "ผมอยู่ในเขตบางบัวทอง จึงถือเป็นผู้ประสบภัยลำดับแรกๆ หรือ ผู้ประสบภัยรุ่นที่ 1 โดยที่ผ่านมาผมเตรียมสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งหลายๆ คนบอก อาจารย์หนีเถอะ เพราะน้ำเยอะจริงๆและไม่มีทางรอด แต่ผมเริ่มจากความไม่ประมาท ตระเตรียมทุกอย่างในการดำรงชีวิต แต่สาเหตุที่ต้องออกมาอยู่ข้างนอก เพราะ บังเอิญรายการโทรทัศน์ได้ชวนออกไปอยู่ข้างนอก เลยตัดสินใจออกมากับทางรายการ และปรับเปลี่ยนตัวเองจากผู้ประสบภัยมาเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ โดยลงพื้นที่คลองมหาสวัสดิ์ ไปพบว่า ชาวบ้านตั้งใจว่าเขาจะอยู่ และทาง กทม. ตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวไว้ที่โรงเรียนคลองมหาสวัสดิ์ และที่วัดปุณณาวาส ผมจึงเริ่มกระบวนการกับชุมชน และเราเตรียมเป็นขั้นเป็นตอน และทุกคนต่างร่วมแรงร่วมใจกัน แต่ก็มีความขัดแย้งกัน แต่อย่างที่บอก ในสถานการณ์แบบนี้ อยู่ที่ต้นทุนและผู้นำชุมชนว่าเป็นอย่างไร เราจะจัดระบบอย่างไรให้เกิดผู้นำ และความสามัคคีขึ้น ซึ่งจากความสามัคคี ทำให้ชุมชนดังกล่าวอยู่ได้ด้วยความเข้มแข็ง โดยย้ำว่า ถ้าเราฝ่าวิกฤตได้ เราก็จะแข็งแรงขึ้นกว่าเก่า"
ถุงยังช่วย(กัน) ผลิตภัณฑ์จากผู้ประสบภัยในมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
นายทวีจิตร จันทรสาขา นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ขึ้นชื่อว่าสถาปนิก มีหรือที่จะไม่มีวิธีในการปกป้องบ้านให้พ้นจากอุทกภัยในครั้งนี้ แต่ใครจะเชื่อว่า แม้คุณทวีจิต จะมีอุปกรณ์ทุกอย่างเรียกได้ว่าไม่มีอะไรที่บ้านคุณทวีจิตไม่มี แต่เขาก็ยังไม่สามารถรอดพ้นจากน้องน้ำได้ "สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เราได้เรียนรู้" อย่าไปเอาชนะธรรมชาติ แต่ให้คิดเอาธรรมชาติมาใช้ให้ประโยชน์ดีกว่า" เพราะถึงเวลาจริงแล้ว สิ่งที่เราเรียนรู้ถึงมาตราการการป้องกันนั้นยากเกินกว่าที่จะทำได้ ยิ่งน้ำสูงกว่า 1 เมตร ระบบที่เราเตรียมไว้ช่วยอะไรไม่ได้ เมื่อน้ำมาแล้ว บอกได้คำเดียวว่า เก็บเงินไว้ซ่อมบ้านดีกว่า น้ำท่วมไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด จริง ๆ สิ่งที่น่ากลัวคือ ระบบโลจิสติกส์ ถ้าสามารถกู้ระบบโลจิสติกส์ได้ และสามารถขนส่งอาหาร ขนส่งคน ขนส่งสินค้า และยารักษาโรคได้ เราก็อยู่กับน้ำได้ ซึ่งประเด็นนี้ คุณเพ็ชร ชินบุตร จากสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ก็สนับสนุนแนวคิดนี้ เพราะตอนนี้ ถึงมีเงินแต่ก็หาซื้อของไม่ได้
สำหรับการดูแลบ้านหลังโดนน้ำท่วม แยกเป็นส่วนๆ
อาคาร : ยืนยันว่าโครงสร้างสามารถแช่น้ำเป็นเวลา 2 เดือน ไม่พังอย่างแน่นอน เว้นแต่อยู่ใกล้บึง ใกล้บ่อ ดินสไลด์ ซึ่งจะส่งผลต่อรากฐานได้
ผนัง : ขัดและล้าง และทิ้งไว้ 1 เดือนเพื่อให้น้ำและความชื้นระเหย เชื่อว่าราคาสีใหม่ ไม่เท่ากับราคากระสอบทรายที่ซื้อมากั้นบ้าน
พื้น : พื้นหินอ่อน หินขัด กระเบื้อง รีบทำความสะอาดอย่าให้เกาะนาน และถ้ากระเบื้องล่อน สามารถใช้กาวเพื่อซ่อมแซมได้ ส่วนพื้นไม้ ถึงน้ำไม่เข้าบ้าน แต่ความชื้นอาจจะทะลุขึ้นมาได้ ซึ่งหากเกิดอาการบวม ซ่อมแซมโดยการตัดออกและซ่อม
ปั๊มน้ำ /คอมเพรสเซอร์แอร์ : ควรหาถุงพลาสติกคลุม เพื่อป้องกันโคลน และยกขึ้นให้พ้นรัศมีน้ำ แต่สำหรับคนที่น้ำท่วมแล้ว หลังน้ำลดควรทิ้งไว้ 2 อาทิตย์ รอให้แห้ง
ถังบำบัด : พอน้ำลดน้ำจะไหลลงไปเอง ให้เอาแบคทีเรียสำเร็จรูปใส่เข้าไป
ด้านคุณชวลิต จันทรรัตน์ TEAM Group มาบอกเล่าถึงสถานการณ์น้ำในขณะนี้ว่า น้ำในปีนี้มีมากกว่าปีอื่นๆ 1.4 เท่า เราก็คิดแบบจำลองเอาน้ำจากพื้นที่ต่างๆ มาคำนวณ พบว่า พื้นที่บางแห่งท่วมแน่ บางแห่งกำลังท่วม และบางแห่งเสี่ยงปานกลาง ซึ่งตอนนี้ยังเหลือถนนพระราม 2 แต่ก็ท่วมแน่ๆ อย่าสร้างกระสอบทรายขอให้ไหลไปตามธรรมชาติ ให้ไหลบางๆ ลงทะเล แต่ในบริเวณกลางๆ ช่วงตะวันออกของถนนวงแหวนบางเขต เช่น ทุ่งครุ ราษฏร์บูรณะ ธนบุรี จะรอด ส่วนพื้นที่ตะวันตกคาดว่าท่วมไม่นาน ภายใน 2 สัปดาห์ ถ้ามีการอุดรอยรั่วที่คลองมหาสวัสดิ์เสร็จ และสูบน้ำจากคลองภาษีเจริญออกไปที่คลองสนามชัย ก็จะทำให้น้ำแห้งเร็ว
ส่วนฝั่งกรุงเทพฯ ชั้นใน เราต้องสู้ด้วยระบบสูบน้ำชั้นที่ 2 คลองบางซื่อยังรับน้ำได้ดี ไม่น่ามีปัญหา และทาง กทม.เองก็ช่วยสูบน้ำลงคลองสามเสนบางส่วน ช่วยให้อนุเสาวรีย์ชัยฯ รอดจากน้ำท่วม ในส่วนของรามคำแหงมีอุโมงค์พระราม 9 รับน้ำ จะทำให้พื้นที่ดังกล่าวปลอดภัย และถัดไปมีอุโมงค์มักกะสันรับน้ำจากคลองพระราม 9 จะช่วยให้เขตดินแดงรอด นอกจากนี้ พื้นที่ที่น้ำจะไม่ท่วม มีเขตบางรัก คลองเตย สาทร พระนคร ดุสิต บางซื่อ แต่ก็อย่าเพิ่งประมาท โดยคุณชวลิตได้แนะแนวทางรับมือกับน้ำท่วมไว้หลากหลายข้อ และเตือนว่า สำหรับคนที่ยกรถขึ้น อย่ายกที่แหนบเพราะจะทำให้รถเสีย หรือถ้าใช้ถุงกันน้ำ ก็ต้องหาที่ยึดรถไว้ด้วยไม่เช่นนั้นรถจะลอยและกระแทกเสียหายได้
การเสวนาในครั้ง คงจะช่วยทำให้ทั้งผู้ประสบภัยและผู้ที่กำลังจะประสบภัย ได้กำลังใจและแนวทางที่จะลุกขึ้นมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยไม่ปล่อยให้น้ำมาหยุดวิถีชีวิตของเรา ขอแค่รัฐบาลอย่าตัดน้ำตัดไฟ คนที่ตั้งใจจะสู้อยู่กับน้ำ ก็จะอยู่ได้ ในช่วงท้ายเสวนาดั๊บเบิ้ล เอ ผู้จัดเสวนาได้นำร่องมอบเรือเมล์ และไม้ต้นกระดาษให้แก่นพ.โกมาตร เพื่อนำไปสร้างสะพานต้นแบบสำหรับการสัญจรของชุมชนที่ประสบอุทกภัย ให้สามารถมีวิถีชีวิตอยู่กับน้ำ และขอฝากคำดีๆ ของพระมหาหรรษา ไว้ด้วยว่า "แม้ว่าน้ำจะพัดพาทุกอย่างไปจากชีวิตเรา แม้ว่าจะพัดพาบางอย่างไปจากสังคมของเรา แต่น้ำจะไม่พัดพาสยามเมืองยิ้ม กำลังใจ และการช่วยเหลือเกื้อกูลกันไปจากสังคมไทย เราจะสู้ไปด้วยกัน"
วีณามัย บ่ายคล้อย ผู้ดำเนินรายการ