ดั๊บเบิ้ล เอ สนับสนุนกิจกรรม Open House และการแข่งสร้างสะพานกระดาษ
เมื่อเร็วๆนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี จัดโครงการนิทรรศการแสดงผลงาน “CM CA โชว์ของ” ครั้งที่ 6 โดยนักศึกษาภาควิชาเทคโนโลยีการออกแบบผลิตภัณฑ์และจัดการอุตสาหกรรมก่อสร้าง คณะเทคโนโลยีและการจัดการอุตสาหกรรม มีการจัดกิจกรรมแสดงผลงานของนักศึกษาและบุคคลากรและการแข่งขันโครงสร้างรับน้ำหนักจากกระดาษ : ลองของ ครั้งที่ 5 ซึ่งถือว่าเป็นไฮไลท์ของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ โดยมีเกณฑ์การให้คะแนนและตัดสินจากกำลังในการรับน้ำหนักและความสวยงามและแนวคิดในการออกแบบ
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะฝึกฝนให้นักศึกษาเกิดทักษะความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และรู้จักทำงานเป็นทีม สร้างความร่วมมือด้านวิชาการกับสถานศึกษาภายนอก รวมไปถึงรวบรวมผลงานและความรู้ความสามารถผลงานของนักศึกษา นำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการเผยแพร่ในครั้งนี้อีกด้วย พร้อมทั้งเปิดให้นักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศได้เข้าร่วมชมและร่วมแข่งขันอีกด้วย
ดั๊บเบิ้ล เอ ในฐานะเอกชนที่ให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาและเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวคิด Double A Better Tomorrow ปลูกฝัน ปลูกปัญญา ที่ส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีโอกาสแสดงทักษะความรู้ ความสามารถและการทำงานเป็นทีมจึงได้สนับสนุนกระดาษ สมุด และอุปกรณ์การศึกษาเพื่อกิจกรรมการแข่งขันโครงสร้างรับน้ำหนักจากกระดาษ หรือ การแข่งขันสะพานกระดาษ โดยในปีนี้มีนักเรียน นักศึกษาเข้าแข่งขันรวม 33 ทีมทั่วประเทศ
เริ่มต้นในช่วงเช้าที่เห็นรถบัสรถตู้จอดเรียงรายกันในมหาวิทยาลัย พร้อมกับเสียงหัวเราะ เสียงเพลงที่ดังอย่างคึกคักจากใต้คณะเทคโนโลยีและการจัดการอุตสาหกรรม เมื่อก้าวเท้าเข้าไปถึงกับอดยิ้มไม่ได้ เพราะบริเวณนั้นเต็มไปด้วยความสดใสของนักเรียน นักศึกษา และใบหน้าที่พร้อมที่จะเรียนรู้และเข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้
น้องบี นายเอกพล มหาวัน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวังตะเคียนวิทยาคม อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า "ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของการมาร่วมชมการแข่งขันสะพานกระดาษ พอดีมีหนังสื่อแจ้งไปทางโรงเรียนครับ วันนี้ผมและเพื่อนๆเลยมาร่วมทัศนศึกษา ทีแรกผมนึกภาพไม่ออกจริงๆครับว่ากระดาษจะนำมาสร้างเป็นสะพานและรับน้ำหนักได้ยังไง แต่วันนี้มาร่วมงานแล้วรู้สึกมีหลายสิ่งที่น่าสนใจมากครับ" พอพูดจบน้องบีก็เดินเข้าไปถามๆพี่ๆที่ยืนอยู่ประจำบูธด้วยความสนใจและน้องยังบอกกับเราว่าตอนนี้อยู่ม.6 แล้วความฝันอยากจะเป็นพยาบาลทหารช่วงนี้เลยต้องตั้งใจ ใฝ่รู้และพยายามอย่างเต็มที่
อาจารย์สุบรรณ ตาคำวัน หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีการออกแบบผลิตภัณฑ์และจัดการอุตสาหกรรมก่อสร้าง กล่าวว่า " จริงๆแล้วเราเริ่มต้นจากการแข่งขันสะพานไม้ไอติม และพัฒนาริเริ่มทำจัดการประกวดสะพานกระดาษ ซึ่งเป็นแห่งแรกของไทย ครั้งหน้าเราอาจจะมีการพัฒนาเป็นการแข่งขันระดับชาติ เพื่อให้นักศึกษาได้คิด ได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาปรับใช้จริง และที่สำคัญจริงๆแล้วกระดาษทำอะไรได้มากมาย ไม่ว่าจะนำมาทำโมเดล เฟอร์นิเจอร์ ต่อไปเราอาจจะเห็นโครงสร้างที่มาจากกระดาษด้วยนะครับ "
การแข่งขันดำเนินการตั้งแต่ช่วงบ่ายด้วยความตื่นเต้นของผู้เข้าแข่งขันและกองเชียร์ของแต่ละทีม ที่ลุ้นกันนาทีต่อนาทีว่าสะพานกระดาษของตัวเองจะรับน้ำหนักได้มากที่สุดเท่าไหร่ จนกระทั่งการแข่งขันดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย กับนักศึกษาทีมที่ 33 หลังจากนั้นคณะกรรมการรวบรวมคะแนนทันที โดยผลคะแนนวัดจาก กำลังการรับน้ำหนักและความสวยงามและแนวคิดในการออกแบบ
ผลการตัดสินปรากฎว่า ทีมผู้ชนะเลิศได้แก่ ทีมลูกพระวิษณุ 2 จากวิทยาลัยเทคนิคนครนายก แชมป์เก่า ด้วยสะพานกระดาษที่รับน้ำหนักได้ถึง 200 กิโลกรัม โดยนางสาววันวิสาข์ คงศร และนางสาวอรอุมา ฮิงสาหัส สองสาวแห่งทีมยิ้มด้วยความภาคภูมิใจกับรางวัลที่ได้รับ รวมไปถึงอาจารย์เรวัตต์ หน่ายมี อาจารย์ผู้ดูแลทีม ที่เป็นเบื้องหลังผู้ผลักดันให้เกิดสะพานกระดาษที่แข็งแกร่งจนได้รับรางวัลชนะเลิศอีกครั้ง
น้องกิ๊ฟ นางสาววันวิสาข์ คงศร กล่าวว่า "วันนี้ดีใจมากๆค่ะ เพราะกว่าจะสร้างสะพานขึ้นมาได้ต้องใช้ความมุ่งมั่น ตั้งใจมาก ต้องใช้เวลากับสิ่งนี้พอสมควรเลยค่ะ ตอนทำรู้สึกเหนื่อยมาก แต่มาถึงวันนี้หายเหนื่อยเลยค่ะ" พอพูดจบประโยคน้องกิ๊ฟก็หันหน้าไปยิ้มให้กับเพื่อนในทีมอีกคนอย่างภาคภูมิใจ
ทางด้าน ผศ.ดร.อนิราช มิ่งขวัญ คณบดีคณะเทคโนโลยีและการจัดการอุตสาหกรรม ได้กล่าวทิ้งท้ายกับเราว่า "กิจกรรมนี้เราอยากให้นักศึกษาได้แสดงความคิดในด้านงานก่อสร้าง หาวัสดุใหม่ๆที่แตกต่างจากเดิม อย่างกระดาษสามารถนำมาทำเป็นโครงสร้างและสามารถรับแรงได้ดีด้วย การตอบรับจากการเข้าร่วมแข่งขันก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราก็จะมุ่งมั่นจัดกิจกรรมต่อไปเรื่อยๆครับ"
เพียงแค่กระดาษถ่ายเอกสารสีขาว ที่ใช้งานแล้วก็ได้ กับกาวลาเท็กซ์ สามารถทำให้เป็นรูปเป็นร่าง เป็นชิ้นงานและรับน้ำหนักได้ด้วยฝีมือนักศึกษา ขอแค่เราทุกคนกล้าคิด กล้าที่จะลงมือทำ ก็จะสามารถสร้างจิตนาการของตัวเอง ไม่แน่ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นโครงสร้างที่น่าทึ่งและสามารถใช้งานได้จริงในอนาคต
และทางเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี ยังยืนยันจะจัดกิจกรรมขึ้นทุกปี น้องๆที่สนใจเตรียมตัวโชว์ความสามารถและเข้าสู่สนามจริงกันได้ต่อไปในปีหน้าซึ่งอาจจะพัฒนาเป็นการแข่งขันระดับชาติอีกด้วย