ดั๊บเบิ้ล เอ ชูกลยุทธ์การบริหารนวัตกรรม ดัน SMEs ไทยสู่ตลาดโลก
"การทำธุรกิจ ต้องกล้าคิด กล้าฝัน อย่าไปกลัว ต้องกล้าที่จะขายความคิด ไอเดียเป็นเรื่องสำคัญ การสร้างสรรค์นวัตกรรมต้องนำมาประยุกต์ใช้ได้ในเชิงพาณิชย์ (Commercialize) ดั๊บเบิ้ล เอ เป็นเจ้าแรกที่เอากระดาษมาทำแบรนด์ และเป็นรายแรกที่ทำ “กระดาษจากคันนา” นวัตกรรมทางความคิดเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน"
(คุณโยธิน ดำเนินชาญวนิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน)
เมื่อเร็วๆนี้ คุณโยธิน ดำเนินชาญวนิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) ได้รับเชิญจากมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง และกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นวิทยากรงานอบรมในหลักสูตร SMEs Spring up ในหัวข้อ การบริหารองค์กรสู่ความเป็นหนึ่งด้านนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยผู้ร่วมงานประกอบด้วย ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) นักวิชาการ ข้าราชการ ผู้ที่เกี่ยวข้องในหน่วยงานที่สนับสนุน SMEs รวมจำนวน 100 คน
ดั๊บเบิ้ล เอ ในฐานะองค์กรที่บริหารนวัตกรรม บุกตลาดโลก มุ่งหวังให้การบรรยายครั้งนี้ มีส่วนผลักดันให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพ ได้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถนำมาตรฐาน ผลิตภาพและนวัตกรรมมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างความแข็งแกร่งและสร้างการเปลี่ยนแปลงก้าวกระโดดสู่ความเป็นองค์กรธุรกิจที่ประสบความสำเร็จยกระดับไปสู่สากล
"นวัตกรรม คือ สิ่งที่ทำให้ทุกธุรกิจแจ้งเกิด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ หรือเล็ก เพราะรากฐานสำคัญของนวัตกรรม คือการเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ให้อุตสาหกรรม ดังนั้นการบริหารนวัตกรรม คือสร้างโอกาสและขยายธุรกิจนั่นเอง แต่ในขณะเดียวกัน นวัตกรรม และการเปลี่ยนแปลงก็คือภัยคุกคามทุกธุรกิจได้เช่นกัน ซึ่งเราไม่ควรกลัว แต่ต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมือ" คุณโยธิน กล่าวแก่ผู้ร่วมสัมมนา และสรุปถึงแนวทางในการบริหารนวัตกรรม 3 ขั้นตอน
1.การสร้างสรรค์และแสวงหานวัตกรรม
2.การพัฒนาการผลิตเชิงพาณิชย์
3.การสร้างแบรนด์
การสร้างสรรค์และแสวงหานวัตกรรม
เดิมประเทศไทยต้องนำเข้ากระดาษสุทธิ สาเหตุส่วนหนึ่งคือ การขาดวัตถุดิบรองรับ ซึ่งในอดีตวัตถุดิบในอุตสาหกรรมกระดาษคือไม้ตัดจากป่าธรรมชาติ ดั๊บเบิ้ล เอ ได้ริเริ่มในการใช้ไม้ปลูกแทนไม้จากป่าธรรมชาติ
เริ่มจากการพัฒนาสายพันธุ์จากต่างประเทศ ดั๊บเบิ้ล เอ ได้ทุ่มเทกับการพัฒนาวัตถุดิบอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 ด้วยงบวิจัยกว่า 200 ล้านบาท พร้อมนักวิชาการเกษตรนับร้อย ปรับปรุงสายพันธุ์จากแม่พันธุ์ไม้ทั่วโลกถึง 2,500 สายพันธุ์ทำให้คิดค้น ต้นกระดาษที่เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อม ภูมิประเทศและภูมิอากาศของไทย ที่สามารถเติบโตนำมาใช้ได้ในเวลาเพียง 3 ปี มีความโดดเด่นด้วยเส้นใยสูง เหมาะแก่การทำกระดาษคุณภาพ
ถึงแม้ดั๊บเบิ้ล เอ จะพัฒนาสายพันธุ์ต้นกระดาษเป็นผลสำเร็จ แต่โจทย์สำคัญ คือ "ผู้ปลูก" บริษัทจึงริเริ่มการส่งเสริมการปลูก "ต้นกระดาษบนคันนา" บนพื้นที่ว่างที่เกษตรกรไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นรายได้เสริมที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกร "กระดาษจากคันนา" จึงเป็นการเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมกระดาษโลก ในการได้มาซึ่งวัตถุดิบเพื่อการผลิตกระดาษที่ยั่งยืน ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการปลูกต้นกระดาษจากคันนาถึง 1.5 ล้านครอบครัว เพิ่มพื้นที่สีเขียวจากต้นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ ส่งเสริมเกษตรกรไทยให้มีรายได้เสริม ช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมเพื่อสังคม
"การสร้างนวัตกรรม เราสามารถมองย้อนกลับไปถึงระดับวัตถุดิบ ที่มาของนวัตกรรมนั้น อาจจะมาจากการวิจัยและพัฒนาโดยผู้ประกอบการเอง ตั้งแต่ต้นทาง หรือการค้นหาหรือเข้าถึงนวัตกรรมจากแหล่งอื่นแล้ว นำมาพัฒนาต่อยอด หรือใช้ทั้ง 2 วิธีการร่วมกัน"
การพัฒนาการผลิตเชิงพาณิชย์
นวัตกรรม ที่ได้ผลต้องมุ่งพัฒนาในเชิงพาณิชย์ ในลักษณะการผลิตในปริมาณมากได้ (Scalable) โดยผลิตภัณฑ์ต้องมีคุณภาพ ดั๊บเบิ้ล เอ จึงพัฒนาคุณภาพกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ ให้เรียบลื่น คมชัดสวยงาม รองรับต่อการใช้งานของเทคโนโลยีพริ๊นเตอร์ในปัจจุบัน เพื่อลดการสูญเสียของกระดาษ และตั้งเป้าหมายส่งออกสู่ตลาดโลก ทำให้ในที่สุดประเทศไทยได้เขียนหน้าประวัติศาสตร์ของกระดาษ เปลี่ยนสถานะจากประเทศผู้นำเข้ากระดาษสุทธิ เป็นผู้ส่งออกกระดาษสุทธิ
เอสเอ็มอี จะแจ้งเกิดในตลาดได้ ต้องใช้ นวัตกรรม และนวัตกรรม จะแข่งขันได้ ก็ด้วยการผลิตจำนวนมาก จึงต้องพัฒนาศักยภาพธุรกิจไทยสู่การแข่งขันระดับโลก หรือยุทธศาสตร์ธุรกิจระดับโลกเชิงรุก (Global Platform)
การสร้างแบรนด์
การแข่งขันในตลาดโลก ด้วยนวัตกรรม ต้องสร้างแบรนด์ เพื่อให้สามารถเข้าสู่ตลาดได้ เช่นเดียวกันกับดั๊บเบิ้ล เอ ที่ใช้กลยุทธ์สร้างแบรนด์ให้กับกระดาษ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเห็นความสำคัญกับคุณภาพกระดาษที่แตกต่าง และมุ่งสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจอุตสาหกรรมกระดาษดั๊บเบิ้ล เอด้วยการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์กระดาษให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาจนถึงปัจจุบัน
"ศาสตราจารย์ฟิลิป คอตเลอร์ ปรมาจารย์ด้านการตลาดระดับโลก บอกกับผมว่า สิ่งที่ดั๊บเบิ้ล เอทำ มีเรื่องราวมากมาย ที่น่านำไปถ่ายทอด ท่านได้เชิญผมไปเป็นวิทยากรร่วมบรรยายเรื่องบทบาทนวัตกรรมในสินค้าโภคภัณฑ์ ในงาน World Marketing Summit 2014 ที่ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำเสนอการพัฒนารูปแบบการตลาด (Marketing Platform) ที่มองไปถึงสิ่งที่มากกว่าการสร้างการตระหนักรู้ในแบรนด์สินค้า ในโลกปัจจุบัน ซึ่งแบรนด์ที่จะประสบความสำเร็จต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้คนที่กว้างขึ้น โน้มน้าวกลุ่มคนเหล่านี้ ให้มีความห่วงใยต่อสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ"คุณโยธิน กล่าว
จากกลยุทธ์การบริหารจัดการนวัตกรรมทางความคิด "กระดาษจากคันนา" ที่มีเรื่องราวเริ่มต้นจาก ต้นกระดาษเพียง 1 ต้น ที่ขับเคลื่อนธุรกิจอุตสาหกรรมกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ เติบโตก้าวไกลสู่ตลาดโลก ปัจจุบันกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ในฐานะสินค้าไทยที่สามารถส่งออกกว่า 138 ประเทศทั่วโลก สร้างชื่อเสียงและสร้างรายได้ให้กับประเทศนับหมื่นล้านบาทต่อปี และมียอดขายเป็นอันดับ 1 ในประเทศเกาหลีใต้
"ทุก เอสเอ็มอี มีโอกาสเติบโตด้วยกลยุทธ์การบริหารนวัตกรรม แต่ต้องก้าวข้ามความท้าทายที่ต้องเผชิญด้วยการมีวิสัยทัศน์เชิงบวก พร้อมกับปลูกฝังแนวคิดการชูนวัตกรรมในการบริหารจัดการ SMEs ไปสู่ทีมงานในธุรกิจของตัวเอง และสิ่งสำคัญคือการมีไอเดีย โดยการสร้างสรรค์นวัตกรรม แต่การสร้างสรรค์นวัตกรรม ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาแต่เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเท่านั้น เรายังสามารถนำไอเดียดี ๆ ที่มีการสร้างสรรค์ไว้แล้วมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจเชิงพาณิชย์ได้ โดยไม่มองข้ามการสร้างแบรนด์ ควบคู่การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อบริหารจัดการธุรกิจอย่างยั่งยืน นำมาซึ่งการขับเคลื่อนเอสเอ็มอี ไทยให้ก้าวไกลสู่ตลาดโลกได้ ในที่สุด"คุณโยธิน กล่าว
ภาพประกอบสกู๊ป